"บล.กสิกรไทย"เฟ้น 6 กลุ่มหุ้นปลอดภัยรับมือตลาดผันผวน-ห่วงเก็บภาษีขายหุ้น

"บล.กสิกรไทย"เฟ้น 6 กลุ่มหุ้นปลอดภัยรับมือตลาดผันผวน-ห่วงเก็บภาษีขายหุ้น

บล.กสิกรไทย ห่วงเก็บภาษีขายหุ้น กระทบมูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยหดตัว PE ของหุ้นและตลาดลดลง ขณะที่ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น พร้อมประเมินหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่ง 1,675-1,685 จุด เฟ้น 6 กลุ่มหุ้นปลอดภัยรับมือตลาดผันผวน

บล.กสิกรไทย ระบุ กระแสข่าวการเก็บภาษีจากการขายหุ้น (FTT) หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันจะเริ่มจัดเก็บในปีนี้อัตรา 0.1% ในทุกธุรกรรมการซื้อขาย กลายเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

โดยผลกระทบเบื้องต้นคาด 1.) รัฐจะมีรายได้มากขึ้นจากการเก็บภาษี  2.) ทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดลดลง  3.) ความนิยมในการซื้อขายหุ้นในตลาดลดลงส่งผลให้ค่า PE ของหุ้นและตลาดต่ำลง ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น และ 4.) แรงจูงใจในการเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดน้อยลง     

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (18-22 เม.ย.) จะแกว่งตัวในกรอบ 1,675-1,685 จุด โดยประเด็นที่ต้องติดตามหลังสงกรานต์ คือ การประกาศผลประกอบการ (Earning) งวด 1Q65 เริ่มจากกลุ่มธนาคาร  

กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำ Trading โดยเป็นวิธีการการสับเปลี่ยนกลุ่ม (Rotation) ประเมินในช่วงที่ตลาดผันผวน กลุ่มที่ปลอดภัย คือ

 

1. กลุ่มการแพทย์ (BH, BDMS) 

2. กลุ่มโรงไฟฟ้า Utilities (GULF, GUNKUL,GPSC)  

3. กลุ่ม REITS (ALLY, B-WORK, DIF) 

4. กลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ อาทิ กลุ่มส่งออก (SAPPE , ASIAN, TU) ซึ่งได้ Sentiment บวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า และค่าระวางเรือที่ลดลง 

 5. กลุ่มที่ได้กระแสบวกจากการเปิดเมือง (BEM, CPN, MINT) 

6. กลุ่มที่ราคาสะท้อนข่าวร้ายไปแล้วแต่ทิศทางผลประกอบการยังดี (OSP, EPG) 

ส่วนกลุ่มชะลอการลงทุน คือ กลุ่มปิโตรเคมี และ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

โดยหุ้นเด่น แนะนำ 

- EPG (ราคาพื้นฐาน 12.00 บาท) คาด 1.) กำไรปกติไตรมาส 4Q65 (ม.ค.-มี.ค. 65) อยู่ที่ 411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% YoY แต่ทรงตัว QoQ แม้คาดรายได้จะลดลง QoQ แต่คาด GPM ปรับตัวดีขึ้น  2.) คาดว่าธุรกิจฉนวนจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับปี 2566 ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์น่าจะยังพอเติบโตได้แม้จะประสบปัญหาจากปัจจัยต่างๆ ทั่วโลก 3.) ราคาหุ้นที่ปรับฐานราว 22% นับตั้งแต่ต้นปีได้รวมถึงข่าวร้ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้ว 

- MINT(ราคาพื้นฐาน 40.59 บาท) โดยปัจจัยหนุน 1.) หลายประเทศรวมถึงไทยเปิดประเทศ หลังจากมีการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น และไม่เห็นการกลับมา lockdown แบบเข้มงวด คาดจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของรายได้ปี 2565 เป็นต้นไป 2.) ยุโรปจะเริ่มเข้าสู่ high season ของภาคท่องเที่ยว  3.) ค่าเงินยูโร/ดอลลาร์ แนวโน้มยังอ่อนค่าต่อเนื่องราว 5.2% นับจากต้นเดือนก.พ. 65 ดึงดูดการท่องเที่ยว โดย MINT จะได้ประโยชน์เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากโรงแรม 64% และมีโรงแรมในยุโรป NH Hotel 

ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

- 18 เม.ย. : ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปหยุดทำการเนื่องจากวันวันอีสเตอร์, ติดตาม (GDP) ของจีน (ปีต่อปี) งวดไตรมาส 1 ตลาดคาด 3.6% YoY, ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (ปีต่อปี) (มี.ค.) ตลาดคาด 3.9% YoY จาก 7.5% ในเดือนก.พ., ดัชนีตลาดการเคหะจากสมาคมผู้สร้างบ้านสหรัฐ (เม.ย.) ตลาดคาด 77 จุด

- 19 เม.ย. : รายงานจำนวนใบอนุญาตก่อสร้างในสหรัฐ (มี.ค.) ตลาดคาด 1.81 ล้านหลัง, รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (มี.ค.) ตลาดคาด 1.69 ล้านหลัง

- 20 เม.ย. : ติดตามปริมาณการส่งออกและนำเข้าของญี่ปุ่น (ปีต่อปี) (มี.ค) ตลาดคาด 21% YoY และ 28% YoY ตามลำดับ, ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของยุโรป (เดือนต่อเดือน) (ก.พ.) ตลาดคาด 0.2% YoY, ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (Existing Home Sales) (เดือนต่อเดือน) (มี.ค.) ตลาดคาด  5.8 ล้านหลัง

- 21 เม.ย. : รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) (ปีต่อปี) (มี.ค.) ยุโรป ตลาดคาด 7.5% YoY, ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (เม.ย.) ตลาดคาด 20.9 จุด

- 22 เม.ย. : ดัชนียอดขายปลีกของอังกฤษ (เดือนต่อเดือน) (มี.ค.) ตลาดคาด 0.6% MoM, ดัชนี PMI ภาคการผลิต (เม.ย.) ของยุโรป ตลาดคาด   56.0 จุด จาก 56.5 จุด ในเดือน มี.ค., ดัชนี PMI ภาคการผลิต (เม.ย.) ของสหรัฐ ตลาดคาด 56.3 จุด