EPG ส่งฉนวนกันความรัอน/เย็นท่อลม บุกตลาดสหรัฐ-ญี่ปุ่น
"อีพีจี" บุกตลาดสหรัฐ-ญี่ปุ่น ส่งผลิตภัณฑ์ “ฉนวนกันความร้อน-เย็นท่อลม” โกยรายได้ พร้อมมั่นใจ 3 ธุรกิจหลักสร้างการเติบโตปีนี้ (65/66) ดันผลดำเนินงานสูงกว่าปีก่อน ส่วนเมืองไทยเจาะกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลมากขึ้น
ธุรกิจทั่วโลก...กำลังเผชิญความท้าท้ายกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวกว่า 2 ปีแล้ว และซ้ำเติมด้วยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งลุกลามกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนผ่าน นานาชาติได้มีมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก อย่าง พลังงาน และ สินแร่สำคัญ
โดยผลักดันให้ “ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่ง” ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญปรับตัวขึ้น “สูงสุด” (นิวไฮ) ในรอบหลายปี และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทาน และค่าขนส่งที่ปรับขึ้น ด้วยสารพัดปัจจัยเสี่ยงของความขัดแย้งครั้งนี้อาจยืดเยื้อ และบานปลายกดดันการดำเนินงานในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม...
และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากธุรกิจใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมี เพื่อผลิตสินค้าในทุกกลุ่มธุรกิจอย่าง บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการมุ่งเน้นบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบมีการประมาณการที่แม่นยำเพื่อบริหารวัตถุดิบที่มีอยู่และอยู่ระหว่างจัดส่ง ให้เพียงพอกับการผลิตและมีราคาเฉลี่ยที่เหมาะสม
“เฉลียว วิทูรปกรณ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับแผนธุรกิจปี 2565/2566 (เม.ย.65-มี.ค.66) คาดว่าธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564/2565 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ , ยุโรป สะท้อนผ่าน “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) ของกลุ่มลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ
อีกทั้งบริษัทได้ปรับขึ้นราคาขายสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และมีการปรับปรุงต้นทุนที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต จากผลกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทั้งนี้ แผนธุรกิจในปี 2565/2566 บริษัทมุ่งเน้นสร้างการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก โดย “ธุรกิจฉนวนกันความร้อน-เย็น” ภายใต้แบรนด์ Aeroflex คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ซึ่งปีก่อนบริษัทเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ 4,000 ตัน ซึ่งฐานการผลิตโรงงานแห่งใหม่ได้นำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติความเร็วสูงมาใช้เพื่อ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยอัตราการใช้กำลังผลิตทยอยปรับเพิ่มขึ้น ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นและการขยายฐานลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง
สะท้อนผ่าน ปัจจุบันบริษัทเตรียมนำสินค้าประเภท “ฉนวนกันความร้อน-เย็น ท่อลม” เข้าไปทำตลาดในสหรัฐฯ ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ในสหรัฐฯ เข้าไปใน “อุตสาหกรรมตู้แช่อาหาร” อย่าง ผักและผลไม้ หลังมีกำลังการผลิตเพียงพอแล้วจากการขยายกำลังผลิตโรงงานที่สหรัฐฯ โดยตลาดกลุ่มตู้แช่อาหารเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
“หลังจากปีก่อนเราขยายกำลังการผลิตโรงงานสหรัฐฯ 4,000 ตันแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีกำลังผลิตเพียงพอที่จะขยายเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากฉนวนท่อน้ำร้อน/เย็น และคาดว่าบริษัทต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก หลังจากบริษัทเจอขุมทองแห่งใหม่”
รวมทั้ง การนำสินค้าฉนวนกันความร้อน/เย็นท่อลมทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มทำตลาดช่วงครึ่งปีหลัง หากสามารถทำตลาดในญี่ปุ่นได้คาดว่าจะใหญ่กว่าในตลาดที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันตลาดกำลังเปลี่ยนจากใยแก้วมาเป็นฉนวนแทน เนื่องจากไม่มีฝุ่นเหมือนใยแก้ว
ขณะที่ตลาดเมืองไทย ภาคธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ฉนวนกันความร้อน/เย็นท่อลมที่เป็นฉนวนแทนใยแก้วแล้ว เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในตลาดที่บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากบริษัทจะสามารถเข้าไปแชร์ตลาดใยแก้วได้มากขึ้นในอนาคต
“ในปีนี้บริษัทพยายามจะมีขยายตลาดในสินค้าฉนวนกันความร้อน-เย็นท่อลม เข้าไปในตลาดทั้งในสหรัฐและญี่ปุ่นให้ได้ ส่วนเมืองไทยก็พยายามขยายกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น”
“ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์” ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ยอดขายมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากคำสั่งซื้อของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่ เนื่องจากชิปขาดแคลน แต่สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น ตั้งแต่ในช่วงเดือนก.พ. และมี.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ ธุรกิจในประเทศออสเตรเลียทยอยฟื้นตัวตามการส่งมอบยานยนต์ในออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน TJM มีร้านค้าสาขารวม 5 แห่ง สาขาล่าสุดในออสเตรเลีย คือ TJM Hobart, Tasmania โดย TJM ได้เตรียมความพร้อมรองรับลูกค้าในทุกช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์ และร้านค้าภายใต้แบรนด์ TJM ทั่วออสเตรเลีย
“ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก” ภายใต้แบรนด์ EPP คาดว่าจะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ อีกทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหาร เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความคุ้นชินและเลือกใช้งาน EPP ได้ปรับปรุงการบริหารสินค้าคงคลัง และอัพเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นสินค้าที่เป็นผู้นำตลาด มีความต้องการในตลาดสูง และมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ “บริษัทร่วมทุนและการร่วมค้า” ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมฉนวนกันความร้อน-เย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดย Aeroklas Duys (Pty) Ltd. แอฟริกาใต้ ได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้น และบริษัท ฟาร์แอร์โร จำกัด ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิตเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้ายานยนต์ OEM คาดว่าจะเริ่มผลิตภายในเดือน เม.ย.ปี2565
สำหรับ แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 64/65 (ม.ค.-มี.ค.65) เติบโตได้ต่อเนื่อง และคาดทั้งปีบัญชี 64/65 (เม.ย.64 - มี.ค.65) ยอดขายจะทะลุเป้าที่ 11,000 ล้านบาทได้ เนื่องจากงวด 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัททำได้แล้ว 8,858 ล้านบาท ขณะที่โมเมนตัมยังดีต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นทั้งปีที่ 29-32% จากงวด 9 เดือน อยู่ที่ 31.6%
ในส่วนของกำไรสุทธิปีนี้สูงกว่าปีก่อน เพราะ 9 เดือน กำไร 1,264 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนทั้งปีที่ 1,218 ล้านบาท แล้ว ซึ่งบริษัทสามารถทำกำไรได้ไตรมาสละ 400 กว่าล้านบาท ติดต่อกัน 5 ไตรมาสแล้ว ก็เชื่อว่าไตรมาส 4 นี้ จะทำได้มากกว่า 400 ล้านบาท
ท้ายสุด “เฉลียว” บอกไว้ว่า หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งสงครามไม่บานปลาย ราคาน้ำมันโลกไม่สูง และการระบาดของโควิด-19 ไม่รุนแรง คาดว่าธุรกิจจะกลับมาเติบโตต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว