คลังเข็น ‘กองทุนบำเหน็จบำนาญ’ รับสังคมสูงวัย
ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิด และอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง โดยประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) หรือการมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี 2548
ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พรชัย ฐีระเวช ระบุ ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิด และอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง โดยประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) หรือการมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ มาตั้งแต่ปี 2548
ส่วนในปี 2564 ไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน หรือ คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2565 และคาดว่าจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2576
สำหรับภาระทางการคลังในการดูแลผู้สูงอายุนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากร จำนวนวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มหลักมีแนวโน้มลดลง ทำให้รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ได้ลดลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุมีมากขึ้น
ในปี 2556 รัฐบาลใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือ 3.35% ของจีดีพี เพิ่มเป็นประมาณ 7.5 แสนล้านบาทหรือ 4.43% ของจีดีพี ในปี 2564 ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณรายจ่ายด้านบำเหน็จบำนาญประมาณ 5.2 แสนล้านบาท หรือ 3.04% ของจีดีพี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ และรายจ่ายด้านบำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยงบประมาณดังกล่าว อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ ในการดูแล เช่น มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร การเตรียมความพร้อมทางการเงินของประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างพอเพียง
ในส่วนของ สศค.เห็นว่านโยบายในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่สำคัญคือ สร้างระบบการออม และหลักประกันเพื่อการชราภาพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และยั่งยืน รวมทั้งปฏิรูปตลาดแรงงาน เพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง และส่งเสริมให้ประชากรวัยเกษียณได้ทำงานต่อเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพ
นอกจากนี้ รัฐบาลรวมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการ ตรวจสอบ และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้ง การปฏิรูประบบภาษีให้มีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น
สศค.ยังอยู่ระหว่างผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบเพิ่มเติม ซึ่งเป็นระบบการออมที่มีการกำหนดการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามจำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุน เพื่อให้แรงงานในระบบส่วนใหญ่ได้มีการออมเพื่อการเกษียณอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีรายได้หลังเกษียณไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอในการดำรงชีพ
รวมทั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... เพื่อให้มีคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่จัดทำนโยบายของระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมให้สอดคล้องกัน รวมทั้งประสานนโยบายกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์