7 กลวิธี การฟอกเขียว
ธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียวหรือไม่อยากตกเทรนด์ แต่มิได้ทำจริงหรือมีกระบวนการธุรกิจที่ไม่เขียวจริงจะใช้วิธีการฟอกเขียว ดังนั้น การบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยล
จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่ได้กลายเป็นกระแสหลักของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน
สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียวหรือไม่อยากตกเทรนด์ แต่มิได้ทำจริงหรือมีกระบวนการธุรกิจที่ไม่เขียวจริง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย
ผมได้เคยนำเสนอวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว โดยไม่ได้แปลจากต้นฉบับเมืองนอก แต่เป็นฉบับตะวันออกหรือเวอร์ชันไทย ที่ก็มีการฟอกเขียวตามกระแสโลก และเห็นว่าเนื้อหายังไม่ล้าสมัยแม้เวลาจะผ่านมาร่วมกว่าทศวรรษ จึงได้นำมาเรียบเรียงให้เป็นปัจจุบัน จำแนกออกเป็น 7 กลวิธีการฟอกเขียว ดังนี้
1. แบบโป้ปดมดเท็จ เป็นการปฏิเสธความจริงที่ปรากฏ หรือสื่อสารไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เช่น การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ การอ้างกฎหมายเพื่อปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากขาดหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ทั้งที่มีมูลเหตุมาจากองค์กร หรือการยกเมฆตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. แบบพูดอย่างทำอย่าง เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มิได้มีเจตนาจะดำเนินการจริง เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือให้สัตยาบัน หรือร่วมประกาศปฏิญญา แต่ไม่มีการดำเนินงานตามที่กล่าวไว้ เข้าในลักษณะดีแต่พูด หรือ วจีบรม (Lip Service)
3. แบบเจ้าเล่ห์เพทุบาย เป็นการอวดอ้างประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลการดำเนินงานด้าน ESG ทั้งที่มิได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง เช่น การเลือกตัวชี้วัดที่อ่อนกว่าเกณฑ์ การใช้วิธีกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุต่ำเกินจริง การเลือกบันทึกข้อมูลเฉพาะครั้งที่ได้ค่าตามต้องการ
4. แบบมารยาสาไถย เป็นการเจตนาลวงให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าและบริการของตน ได้ตามมาตรฐานหรือดีกว่าองค์กรอื่นๆ เช่น ประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานโลก ทั้งที่มาตรฐานดังกล่าว มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เคลม หรือการอ้างถึงรางวัลที่ได้รับ จากเวทีหรือหน่วยงานที่ตนเองเป็นสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนหรือชี้นำ
5. แบบเล่นสำนวนโวหาร เป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารอย่างคลุมเครือ เพื่อให้เข้าใจไขว้เขวไปตามจุดมุ่งหมาย หรือทำให้หลงประเด็น เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น
6. แบบต่อเติมเสริมแต่ง เป็นการขยายความหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เพียงบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่ากระบวนการผลิตในธุรกิจหรือตัวผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มลดความอ้วน ที่อ้างส่วนประกอบของสารอาหารซึ่งสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน
7. แบบปิดบังอำพราง เป็นการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือแสดงความจริงเพียงส่วนเดียว เพื่อจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์หรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร เช่น องค์กรแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ หรือการบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานแห่งความยั่งยืนให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร
เราในฐานะผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจมีราคาที่ไม่ได้ถูกกว่าผลิตภัณฑ์แบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยล