ช้อนซื้อ 'สินทรัพย์' รับนโยบายผ่อนคลายครึ่งปีหลัง

ช้อนซื้อ 'สินทรัพย์' รับนโยบายผ่อนคลายครึ่งปีหลัง

ภาพการลงทุน "ครึ่งปีหลัง" นี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ "ทิศทางเศรษฐกิจ" ต่างจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เลือกการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ต่างประเทศความน่าเชื่อถือสูง รวมถึงตลาดหุ้นเน้นไปที่กลุ่มเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์เพราะมีความมั่นคง

เมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. Fed มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5-5.25% แม้คณะกรรมการส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 50 bps ในปีนี้ แต่การตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 บ่งชี้ว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงแล้ว ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1) อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง 2) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (LEI) หดตัว และ 3) ภาคธนาคารเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่ง 2 ประเด็นหลังนั้นสามารถใช้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อบรรเทาสถานการณ์ได้ จึงเป็นที่มาว่า Fed ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคองสถานการณ์ 

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายนโยบายการเงินส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นด้วย ดังนั้น การเลือกลงทุนควรเลือกกลุ่มสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีช่วงก่อน และหลังเกิด Recession อย่างระมัดระวังให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นที่มีทิศทางนโยบายของภาครัฐที่ผ่อนคลาย อาจเป็นโอกาสให้นักลงทุนสามารถสร้างกำไรที่ดีกว่าตลาดในช่วงนี้ได้ด้วย

สินทรัพย์กลุ่มแรกที่เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน คือ พันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสามารถลงทุนได้หรือ Investment Grade (IG) โดยจากข้างต้นที่เกริ่นไว้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดและจะค่อยๆ ปรับลดลงตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ

เมื่อเราเริ่มลงทุนกองทุนตราสารหนี้ช่วงอัตราดอกเบี้ยสูงจะช่วยให้ผลตอบแทนที่คาดหวังส่วนของอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้สูงเช่นกัน

ประกอบกับว่าจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Capital Gain) จากราคาตราสารหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะลดลงในอนาคตด้วย ซึ่งข้อมูลตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา 12 เดือนหลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุด ดัชนี Bloomberg Aggregate Bond ที่เป็นตัวแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ IG ของสหรัฐฯ สามารถสร้างผลตอบแทนรวมโดยเฉลี่ยได้ถึงปีละ 12%

ในส่วนของตลาดหุ้นนั้นภาพการลงทุนในครึ่งปีหลัง 2023 นั้นเมื่อพิจารณาจากสถิติที่จัดทำโดย Goldman Sachs สรุปว่าตั้งแต่ปี 1989 เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุดจนถึงการลดดอกเบี้ยครั้งแรกใน 5 ครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P500) ให้ผลตอบแทนเป็นบวกจาก 4 ใน 5 ครั้ง โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +13% จากช่วงเวลาดังกล่าว และภาพการลงทุนอีก 12 เดือนข้างหน้าที่มีความเสี่ยง Recession ควรเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงของธุรกิจในช่วง Recession ต่ำ โดยมีรายได้และกำไรไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ

หากอ้างอิงจากข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ 2 ครั้งได้แก่ วิกฤติ Hamburger และ COVID-19 กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์เป็นกลุ่มที่มีกำไร เติบโตเฉลี่ยทั้ง 2 วิกฤต +2.5% และ +6.6% ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นในดัชนี S&P500 เฉลี่ยทั้ง 2 วิกฤติกำไรกลับหดตัวถึง -13.1% นอกจากนี้เมื่อพ้นวิกฤติไปแล้วการเติบโตของกำไรทั้ง 2 กลุ่มนี้ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมายังมีการเติบโตสูงที่สุดในตลาดอยู่ที่ 10.1% และ 10.3% ตามลำดับอีกด้วย

นอกจากเลือกตราสารหนี้หรือกลุ่มหุ้นที่ยังมีผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุดไปแล้ว การลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเวียดนามก็มีความคล้ายคลึงกับสหรัฐฯ ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยปรับขึ้นจาก 4% สู่ 6% ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเกินเป้าหมาย ประกอบกับการเกิดปัญหาหนี้สินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่งทำให้กดดันตลาดหุ้นเวียดนามมาตลอดปีที่ผ่านมา และทำให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีเติบโตเพียง +3.3% ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาว +7% อย่างมาก 

อย่างไรก็ดีรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ข้างต้นผ่าน 4 มาตรการ คือ 1) ลดดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วจาก 6% สู่ 4.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาต่ำกว่าเป้าหมาย 2) ผ่อนคลายการควบคุมตลาดตราสารหนี้ให้ยืดระยะเวลาชำระหนี้และสามารถใช้สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical asset) ชำระหนี้แทนได้ 3) เพิ่มระยะเวลา VISA ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และ 4) ลดภาษี VAT จาก 10% เป็น 8% เพื่อกระตุ้นการบริโภค และประกอบด้วยมูลค่าของตลาดหุ้น ณ ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ P/E Ratio เพียง 10 เท่า ซึ่งถูกกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 20% ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงครึ่งปีหลัง

ภาพการลงทุนครึ่งปีหลังนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางเศรษฐกิจต่างจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เช่น ประเทศที่ต้องกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวอย่างสหรัฐฯ โดยเลือกการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ต่างประเทศความน่าเชื่อถือสูง

รวมถึงตลาดหุ้นเน้นไปที่กลุ่มเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์เพราะมีความมั่นคงของธุรกิจสูงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และกระจายลงทุนไปยังประเทศเวียดนามที่กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยังมีมูลค่าตลาดหุ้นที่ถูกว่าในอดีต ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้น่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 นี้

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager