ธุรกิจประกาศเป้า Net Zero อย่างไร ไม่ให้ปลอม
การประกาศเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard เพื่อมิให้เข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Target) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายโลกที่ต้องบรรลุภายในปี ค.ศ.2050
หน่วยงาน SBTi (Science Based Targets initiative) ได้จัดทำมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard ฉบับแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 สำหรับให้ภาคธุรกิจใช้ในการกำหนดเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วยแนวทาง หลักเกณฑ์ และข้อแนะนำที่จำเป็นต่อการกำหนดเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ให้สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยมาตรฐานฉบับดังกล่าวได้มีการปรับปรุงเป็นเวอร์ชัน 1.2 และประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
องค์ประกอบสำคัญของมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard ประกอบด้วย
1) เป้าหมายระยะใกล้ (Near-term Targets) ในการให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมในสายคุณค่า (Value-chain) ด้วยตนเอง ให้ได้ปริมาณราวครึ่งหนึ่งของการปล่อยก่อนปี ค.ศ. 2030
2) เป้าหมายระยะยาว (Long-term Targets) ในการขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ของการปล่อยก่อนปี ค.ศ. 2050
3) การทำให้มลอากาศส่วนตกค้างเป็นกลาง (Neutralize Residual Emissions) หลังจากที่องค์กรได้บรรลุเป้าหมายระยะยาวแล้ว ด้วยการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนถาวร เพื่อให้สมดุลกันระหว่างปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือตกค้างอีกไม่เกินร้อยละ 10 หรือตามจำนวนที่ขจัดได้ไม่หมด กับปริมาณที่ลดได้จากกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ดำเนินการ
ปัจจุบัน มีกิจการในประเทศไทย จำนวน 34 แห่ง ที่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยศาสตร์ทางภูมิอากาศกับหน่วยงาน SBTi
เพื่อให้เข้าใจที่มาของแหล่งกำเนิดของมลอากาศ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จำแนกออกได้เป็น 3 ขอบเขต คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดซึ่งกิจการเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของ (Scope 1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานที่ซื้อหรือจัดหามาจากแหล่งกำเนิดภายนอก (Scope 2) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Scope 3)
ในกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 จะแบ่งเป็น 15 ประเภท ประกอบด้วย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 1) สินค้าและบริการที่สั่งซื้อ 2) สินค้าประเภททุน 3) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน 4) การขนส่งและกระจายสินค้าต้นน้ำ 5) ของเสียที่เกิดจากการดำเนินงาน
6) การเดินทางเพื่อธุรกิจ 7) การเดินทางไปกลับของพนักงาน 8) สินทรัพย์เช่าต้นน้ำ 9) การขนส่งและกระจายสินค้าปลายน้ำ 10) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 11) การใช้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 12) การบำบัดเมื่อสิ้นอายุผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 13) สินทรัพย์เช่าปลายน้ำ 14) สิทธิพิเศษในการผลิตหรือบริการ 15) การลงทุน
มลอากาศในขอบเขตที่ 3 เป็นที่ทราบกันว่ามีปริมาณที่ใหญ่และกว้างขวางกว่าขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคู่ค้าจำนวนมากในห่วงโซ่ธุรกิจ และมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของกิจการ
จากภาพตัวอย่าง อธิบายได้ว่า ในปีแรก การบ่งชี้ปริมาณมลอากาศมิได้ครอบคลุมทั้งหมด การระบุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ เป็นผลรวมของมลอากาศในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 โดยประมาณ ต่อมาในปีที่สาม การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกพัฒนาถึงขีดที่สามารถรวบรวมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 หรือใน Value-chain ทำให้การบ่งชี้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความครอบคลุมตามที่ควรจะเป็น และสะท้อนปริมาณมลอากาศที่แท้จริงยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปีที่สิบห้า การเปลี่ยนผ่านสู่เป้าสุทธิเป็นศูนย์ คงเหลือแต่มลอากาศส่วนตกค้างซึ่งสามารถทำให้เป็นกลางได้ด้วยการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนถาวร เพื่อให้สมดุลกันระหว่างมลอากาศส่วนตกค้างกับปริมาณที่ลดได้จากกิจกรรมที่ดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ดำเนินการ
การประกาศเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นไปตามศาสตร์ทางภูมิอากาศ จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมาตรฐาน Corporate Net-Zero Standard เพื่อมิให้เข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว โดย
1) การดำเนินการตามเป้าหมายระยะใกล้ ต้องครอบคลุมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 (ใน Value-chain)
2) การดำเนินการตามเป้าหมายระยะยาว ต้องเป็นการลดด้วยตนเอง (ไม่สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย)
3) การดำเนินการกับมลอากาศส่วนตกค้าง ต้องลดได้ตามเป้าหมายระยะยาวก่อน (จึงค่อยทำกับส่วนตกค้าง)
ฉะนั้น กิจการที่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จำเป็นต้องพัฒนาการจัดทำบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจกที่สามารถรวบรวมปริมาณมลอากาศในขอบเขตที่ 3 เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงก่อนการดำเนินการตามเป้าหมายระยะใกล้ และเป้าหมายระยะยาวในลำดับถัดไป