การแก้ไขหนี้นอกระบบ ที่ไร้ระบบของประเทศไทย (4)…..
การแก้ไขหนี้นอกระบบโดยหวังพึ่งสถาบันการเงินของรัฐ จึงเป็นความหวังที่ยากจะเป็นจริง ภาพที่ปรากฎออกมาจึงเป็นการสร้างภาพ โฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนกู้เงิน พอเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องผิดหวัง มีน้อยรายที่ได้รับอนุมัติเงินกู้
จากรายงานข่าวเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบของภาครัฐ ที่เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ผ่านมาเกือบ 5 เดือน มีประชาชนมาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก โดยจะมีการเชิญเจ้าหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ย บางพื้นที่เจ้าหน้าตำรวจได้ติดตามตัวเจ้าหนี้และคนทวงหนี้มาสอบสวน
มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ ข่าวที่ออกมาไม่มีรายละเอียดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาชดใช้หนี้ ถ้าเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันได้ส่งไปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะได้รับอนุมัติเงินกู้มาใช้หนี้หรือไม่ เพราะสถาบันการเงินทุกแห่งมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอนุมัติสินเชื่อในสภาวะที่ปกติ การแก้ไขหนี้นอกระบบโดยหวังพึ่งสถาบันการเงินของรัฐ
จึงเป็นความหวังที่ยากจะเป็นจริง ภาพที่ปรากฎออกมาจึงเป็นการสร้างภาพ โฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนกู้เงิน พอเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องผิดหวัง มีน้อยรายที่ได้รับอนุมัติเงินกู้
ผมได้เคยนำเสนอบทความเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยความระทมทุกข์ที่รอการแก้ไขนานมาก ผ่านคอลัมน์ SMES KEEP UP หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565
ถึงมาตรการลดหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขเปรียบเทียบกับ “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” ของประเทศไทย
ความสำเร็จของเกาหลีใต้กับความไม่สำเร็จของประเทศไทย ที่จำนวนหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จึงขอนำเสนอแผนปลดหนี้ของเกาหลีใต้เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนแนวทางการแก้ไขหนี้นอกระบบของไทยปัจจุบันที่ยากจะประสบความสำเร็จ
หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 3 ปี 2559 จำนวน 91.6% อยู่ในอันดับ 2 ของเอเชียและแปซิฟิก เป็นรองออสเตรเลีย ที่ครองอันดับ 1 อยู่ที่ 123% เกาหลีใต้ ได้ออกนโยบาย “กองทุนความสุขแห่งชาติ” เปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีใต้ ที่มีปัญหาการจ่ายหนี้สินจำนวนต่ำกว่า 10 ล้านวอน หรือประมาณ 303,000 บาท ยื่นความจำนงขอรับความช่วยเหลือได้ โดยผู้ที่มีสิทธิรับความช่วยเหลือ จะต้องมีหลักฐานมาแสดงว่า มีรายได้ต่อเดือน ต่ำกว่า 900,000 วอน ประมาณ 30,000 บาท และไม่สามารถปลดภาระหนี้สินมานานกว่า 10 ปี
โดยมีคณะกรรมการบริหารการเงิน หรือ FSC เป็นผู้กำกับดูแลโครงการนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของกองทุนความสุขแห่งชาติ คือการช่วยเหลือให้ประชาชนเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการปลดภาระหนี้สิน นักเศรษฐศาสตร์เกาหลีใต้ เรียกนโยบายนี้ว่า “ทุนนิยมแบบขงจื๊อ” ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ รัฐจะต้องเป็นผู้ปกป้องดูแลประชาชน
นายแจสเปอร์ คิม ประธานผู้บริหารกลุ่มบริษัท เอเชีย-แปซิฟิก โกลบอล รีเซิร์ สนับสนุนว่า แผนช่วยปลดหนี้ส่วนบุคคลให้ชาวเกาหลีใต้ที่มีรายได้น้อยเป็นนโยบายการขับเคลื่อนที่ดี กองทุนความสุขแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 เพื่อช่วยเหลือชาวเกาหลีใต้ที่ยากจนบริหารหนี้สิน และเป็นนโยบายในการหาเสียงของอดีตประธานาธิบดี ปัก กึน เฮ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศ
กองทุนความสุขแห่งชาติ ใช้เงินกับการปรับโครงสร้างหนี้สิน 6.8 ล้านล้านวอน ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท โครงการนี้ถือเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลเกาหลีใต้ และมีเป้าหมายช่วยลดหนี้เสีย ถึง 6.2 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1.88 แสนล้านบาท
ความยากจนของประชาชนคือแรงกระตุ้นสำคัญของเกาหลีใต้ ในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก
สนับสนุนให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่างซัมซุง ฮุนได แดวู หรือกลุ่มแชโบล เป็นแนวหน้าในการทำธุรกิจขับเคลื่อนเศรษกิจของประเทศ ถึงแม้ปัญหาของไทยจะแตกต่างจากเกาหลีใต้ ที่มีนอกระบบสูงกว่า แต่นโยบายในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบ…