การแก้ไขหนี้นอกระบบที่ไร้ระบบของประเทศไทย (จบ)

การแก้ไขหนี้นอกระบบที่ไร้ระบบของประเทศไทย (จบ)

ปัจจุบัน "ประเทศไทย" มีกองทุนหมู่บ้าน 79,610 กองทุน สร้างเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท ให้กับสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ถ้ามีการปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อกฏหมายที่เป็นอุปสรรค ผมเชื่อว่ากองทุนหมู่บ้านจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญใน "การแก้ไขหนี้นอระบบ" ได้

ผมพยายามติดตามข่าวการแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะเงียบหายไป มีเพียงการแถลงข่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ผ่านมาประมาณ 2 เดือน หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมาก

ตั้งแต่เปิดลงทะเบียน 1 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย มูลหนี้รวมทั้งสิ้น 9,800 ล้านบาท ลูกหนี้ที่มีข้อมูลครบสามารถเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 21,000 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 ราย มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท ถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมาก

บันได 4 ขั้น ของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การเปิดลงทะเบียน การมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ การมอบหมายให้กระทรวงการคลังให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และบันไดขั้นสุดท้ายคือการสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันเสริมทัพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานหาอาชีพ แและสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน

นายกรัฐมนตรี อยากให้ธนาคารของรัฐ นำเงินกลับไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบากมากว่ากอดผลกำไรไว้ ในขณะที่อีกหลายครอบครัวกำลังทนทุกข์กับหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้

ถึงแม้ปัจจุบันธนาคารออมสินและ ธกส มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบหลายรายการ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่ออยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นจากกระบวนการเตรียมเอกสารรายรับ รายจ่ายย้อนหลัง ที่ลูกหนี้ต้องยื่นและเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับสินเชื่อ

การประเมินเพียงตัวเลขผู้เข้าโครงการเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำได้ ต้องประเมินความสำเร็จในแง่ช่วยลดภาระ หรือทำให้คนเข้ามาสู่ในระบบ หรือหลุดพ้นความเป็นหนี้ได้หรือไม่ด้วย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นกันมากกว่าการลงทะเบียนดังกล่าว เป็นการลงทะเบียนเฉพาะบุคคลที่ยินดีจะเข้าโครงการ ซึ่งไม่ครอบคลุมหนี้สินทั้งหมด

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มองว่า การลงทะเบียนแก้หนี้มีมาหลายสมัย แต่การแก้หนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่นสภาพเศรษฐกิจ ฟื้นตัวไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กระทบความสามารถในการการายได้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลให้ แนวโน้มปัญหาหนี้สินรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่สามารถสะสางได้

ด้วยมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้เพียงอย่างเดียว จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขกฎหมายล้มละลาย ผ่อนปรนหลักเกณฑ์อำนวยความสะดวกให้เอสเอมอี ยื่นฟื้นฟูกิจการได้สะดวกขึ้น เพิ่มสิทธิ์ให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถยื่นฟื้นฟูฐานะเหมือนบริษัทเอกชน โดยไม่ต้องรอให้ถูกฟ้องล้มละลายก่อน เป็นเครื่องมือให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จไม่ต้องเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ทุกรัฐบาลเหมือนตอนนี้

น.ส. วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท กล่าวว่า แบงก์ชาติผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ที่ผู้ให้บริการการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น รายได้ยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม การซื้อขายวินค่าผ่านแพลตฟอร์ม

พฤติกรรมชำระค่าน้ำค่าไฟ ตลาดนัดดจนสถานการณ์บังคับคดีของบุคคลหรือบริษัท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการวิเคราะห์สินเชื่อตามความเสี่ยงของผู้กู้ โดยไมต้องดูรายได้ที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น คาดว่าจะดำเนินการเฟสแรกได้ภายในปี 2568

ผมได้นำเสนอมาตรการแก้ไขหนี้ของประชาชน ตามนโยบาย “กองทุนความสุขแห่งชาติ” ของรัฐบาลเกาหลีใต้ มุมมองจาก Grameen Bank ในการแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ที่จะช่วยให้การแก้ไขหนี้นอกรระบบเป็นไปอย่างมีระบบ เปรียบเทียบกับการแก้ไขหนี้นอกระบบที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ คงจะต้องมีการลงทะเบียนแก้ไขหนี้อีกหลายรัฐบาล

มองไปทางไหนก็มืดมืดมัวหม่นไปทุกซอกชอย แบงก์กรุงไทยที่ผมเคยทำงานด้านสินเชื่อนานหลายสิบปี และมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติชาติหลายครั้ง ปัจจุบันก็ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสากิจแล้ว ต้องแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้น ตราบใดถ้ายังไม่มีการแก้ไขกฎระเบียบให้พนักงานทำงานได้อย่างคล่องตัว ก็อย่าฝากความหวังธนาคารของรัฐอย่าง ออมสิน และ ธกส.

มีเพียงกองทุนหมู่บ้าน ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนหมู่บ้าน 79,610 กองทุน สร้างเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท ให้กับสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ถ้ามีการปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อกฏหมายที่เป็นอุปสรรค ผมเชื่อว่ากองทุนหมู่บ้านจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขหนี้นอระบบได้ ผมจะวิเคราะห์และนำเสนอในโอกาสต่อไป

ตอนนี้ก็ได้แต่ให้กำลังใจ ติดตามรัฐบาล ที่มี รมว. กระทรวงการคลัง ที่เชี่ยวชาญอยู่ในวงการเงิน การคลัง มาเป็นเวลานานอาจจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขหนี้นอกระะบมีความหวังขึ้นบ้าง…