มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันหรือไม่? (4)
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.ที่กำลังปรับปรุงอ่านแล้วเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่สวยหรู แต่ไม่สอดคล้องกับวิกฤติหนี้ครัวเรือนที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศที่เต็มไปด้วยหนี้ และลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 กันยายน 2567 เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์
การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending : RL) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการช่วยเหลือลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศฉบับปรับปรุงนี้ ระหว่างวันที่ 5-20 กันยายน 2567 โดยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในประเด็นสำคัญดังนี้
1.การโฆษณา ปรับปรุงแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อให้เหมาะสมกับการส่งเสริมทางการตลาดของธุรกิจ และในขณะเดียวกัน ยังดูแลไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินควร
2.กระบวนการขาย และการส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการ กำหนดแนวทางการกระตุกพฤติกรรมลูกค้าให้มีวินัยทางการเงิน (Nudge) ก่อนเป็นหนี้ และระหว่างเป็นหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ตระหนัก ถึงความสามารถในการชำระหนี้ และมีแรงจูงใจที่จะเลือกชำระหนี้ ระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของตน รวมทั้งชำระหนี้เพิ่มเท่าที่ชำระไหว ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ไม่เป็นหนี้นานและลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ได้ในระยะยาว
3.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) เพื่อส่งเสริมการรวมหนี้และการ Refinance ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ดีขึ้น รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นวงกว้าง ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
4.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent) เพื่อสนับสนุนให้สามารถแก้หนี้เรื้อรังได้อย่างสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น โดยขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ภายใต้มาตรการไม่เกิน 7 ปี และผ่อนปรนให้ผู้ให้บริการสามารถพิจารณาคงวงเงินหมุนเวียนส่วนที่ยังไม่ได้เบิกใช้ของลูกหนี้ได้ตามความเหมาะสม
5.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ (ทั้งกรณี pre-emptive และ TDR) กำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการนำไปปฎิบัติของผู้ให้บริการได้ดียิ่งขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พึ่งจะเตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์และอยู่ในระหว่างเปิดรังฟังความคิดเห็น ในขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในรอบ 16 ปี
โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชน 1,300 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน พบว่า 99.7% ของกลุ่มสำรวจระบุครัวเรือนมีหนี้สินใกล้เคียงจากปี 2566 โดยหนี้อันดับแรก 60% เป็นหนี้จากบัตรเครดิต ตามด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อยานพาหนะ/เดินทาง และหนี้ส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน ภาพรวมหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 606,378 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบมีการผ่อนชำระต่อเดือนประมาณ 18,787 บาท
อีก 30.1% เป็นหนี้นอกระบบผ่อนชำระต่อเดือนประมาณ 6,518 บาท ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งในระบบและนอกระบบ สาเหตุเพราะรายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย มีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ค่าครองชีพสูง ส่งผลให้ 71.6% ประสบปัญหาขาดผ่อนชำระหนี้หรือผิดนัด
และมองว่าในระยะ 6-12 เดือนจากนี้ ส่วนใหญ่ 34.2% มองว่ายังมีโอกาสประสบปัญหาการผ่อนมาก ผลการสำรวจพบว่าปี 2567 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 16 ปี นับจากที่ได้สำรวจในปี 2552 ที่เฉลี่ยกว่า 6.06 แสนบาท และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% คิดเป็น 90.4%-90.8% ของ GDP ประเทศ สูงสุดติดอันดับ 7 ของโลก อยากให้รัฐบาลกระตุ้นคลีนิคแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.ที่กำลังปรับปรุงอ่านแล้วเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่สวยหรู แต่ไม่สอดคล้องกับวิกฤติหนี้ครัวเรือนที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศที่เต็มไปด้วยหนี้ และลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ คลีนิคแก้หนี้เอาไม่อยู่แล้วครับ ต้องมีโรงพยาบาล บางพื้นที่ต้องมีโรงพยาบาลสนาม จึงจะเอาอยู่…