เปิดนโยบาย Trump vs Harris จับทิศการลงทุน
การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยังคงเข้มข้น นโยบายของตัวเต็งทั้ง 2 ฝั่ง ก่อนจะถึงวันลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พ.ย. จะเป็นเข็มทิศสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน
ผ่านไปแล้วกับการขึ้นเวทีดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่จะใช้บริหารประเทศที่โดดเด่นและมีความแตกต่างกัน นโยบายของผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำคนสำคัญของโลกจะเป็นเข็มทิศสำคัญต่อการวางแผนการลงทุน
คะแนนนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ยังคงใกล้เคียงกัน โดยผลสำรวจส่วนใหญ่ชี้ว่านางคามาลา แฮร์ริส มีคะแนนนำเหนือโดนัลด์ ทรัมป์ เล็กน้อยหลังจบการดีเบต นโยบายของคามาลาแฮรร์ริส และโดนัลด์ ทรัมป์ มีหลายส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งนโยบายที่น่าจับตามองและคาดว่าจะส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกมี ดังนี้
1. นโยบายด้านภาษี: ทรัมป์เอื้อคนรวย แฮร์ริสช่วยคนจน
ทรัมป์: ตั้งเป้าลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 15% จาก 21% ในขณะที่ยังคงต่ออายุอัตราภาษีส่วนบุคคลที่ใช้ในปัจจุบัน โดยคงเพดานอัตราภาษีสูงสุดไว้ที่ 37%
แฮร์ริส: เพิ่มภาษีนิติบุคคลเป็น 28% จาก 21% แต่จะลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจขนาดเล็ก 50,000 ดอลลาร์ สำหรับภาษีส่วนบุคคลจะไม่ขึ้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี และยังเสนอเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการคืนภาษีบุตร (Child Tax Credit) เป็น 6,000 ดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินสูงสุดของโครงการคืนภาษีบุตร
ผลกระทบต่อการลงทุน: หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะเป็นผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯโดยรวมและจะหนุนภาพการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น แต่อาจตามมาด้วยเงินเฟ้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่หากแแฮร์ริสชนะจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯและมีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนส่วนหนึ่งจะไหลเข้าสู่ตลาดกลุ่มเกิดใหม่โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชีย
2. นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ: ทรัมป์เก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงโดยเฉพาะสินค้าจีน แฮร์ริสไม่เห็นด้วย
ทรัมป์: เสนอเก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศในอัตรา 10-20% จากอัตราเฉลี่ยที่ 3% ในปัจจุบัน และจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% จากอัตราเฉลี่ย 20% ในปัจจุบัน
แฮร์ริส: คัดค้านการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ในอัตราสูง และมองว่านโยบายการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์จะยิ่งทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อภาษีการค้าระหว่างประเทศ
ผลกระทบต่อการลงทุน: หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโดยรวม โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน โดยภายใต้ยุคของทรัมป์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีการทำสงครามการค้ากันอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เพียงส่งผลลบต่อประเทศคู่ค้าแต่จะส่งผลกลับมาที่สหรัฐฯเองด้วย ส่วนแฮร์ริสแม้จะยังไม่มีนโยบายที่แน่ชัด แต่ท่าทีที่ต่อต้านการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราสูงของทรัมป์ส่งผลเชิงบวกต่อภาพการลงทุนโดยรวม
3. นโยบายด้านพลังงาน - ทรัมป์เร่งขุดเจาะ แฮร์ริสเน้นพลังงานสะอาด
ทรัมป์: สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันในประเทศรวมถึงวิธีการขุดเจาะน้ำมันแบบแฟรกกิ้ง (Fracking) เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน
แฮร์ริส: สนับสนุนพลังงานสะอาด และมีท่าทีอ่อนลงต่อการขุดเจาะน้ำมันแบบแฟรกกิ้ง
ผลกระทบต่อการลงทุน: หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯจะเดินหน้าเร่งขุดเจาะน้ำมัน แม้การขุดเจาะน้ำมันแบบแฟรกกิ้งจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีที่ใช้ในการขุดเจาะและถูกแบนในหลายประเทศรวมถึงบางรัฐในสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์ก แต่หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี กลุ่มพลังงานสะอาดจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่การขุดเจาะแบบแฟรกกิ้งจะยังคงถูกห้ามทำในบางรัฐ
การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยังคงเข้มข้น นโยบายของตัวเต็งทั้ง 2 ฝั่ง ก่อนจะถึงวันลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พ.ย. จะเป็นเข็มทิศสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน ดังนั้น จึงต้องวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายเหล่านี้และกระจายการลงทุนเพื่อลดโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากบางนโยบาย เพื่อเตรียมพร้อมรับประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯที่มีอิทธิพลต่อโลกการลงทุน
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager