“พิพัฒน์” ยันเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากทัวริสต์ต่างชาติ คาดคิกออฟต้นปี 66
“พิพัฒน์” ยันกระทรวงท่องเที่ยวฯเดินหน้าจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดเริ่มคิกออฟได้ราวต้นปี 2566 หลังศึกษาอัตราการจัดเก็บทางบกที่เหมาะสม ชง “ครม.” เคาะเดือน ต.ค.นี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯยืนยันว่าประเทศไทยจะมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินแน่นอน หลังจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการศึกษาอัตราค่าเหยียบแผ่นดินทางบกที่เหมาะสมแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวเดือน ต.ค.นี้ เมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว ต้องรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นอีก 90 วันจะมีผลบังคับใช้ หรือราวต้นปี 2566
“หากมีผลบังคับใช้ราวต้นปี 2566 มองว่าถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) พอดี”
ทั้งนี้ แน่นอนว่าอัตราการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทางอากาศและทางบก จะไม่ใช่อัตราเดียวกัน เพราะทางบกจะถูกกว่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีจำนวนวันพำนักในไทยสั้น ส่งผลต่อความเสี่ยงจากการเดินทางที่ลดลง ทำประกันแก่นักท่องเที่ยวในระยะเวลาที่สั้นลง ต่างจากทางอากาศซึ่งส่วนใหญ่มีจำนวนวันพำนักนานกว่า
“กระทรวงการท่องเที่ยวฯยังยืนยันเดินหน้าจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เรามีเหตุผลรองรับชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาในทุกๆ ปี ภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยแล้วเกิดอุบัติเหตุ ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล”
จากสถิติย้อนหลังในช่วงปี 2560-2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ต้องใช้ภาษีของคนไทยเฉลี่ย 300-400 ล้านบาทต่อปีในการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ในช่วงโควิด-19 ระบาด จะไม่ได้จัดเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต่อ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยน้อยมาก แต่หลังจากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวดีขึ้น แนวโน้มค่ารักษาพยาบาลย่อมต้องมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากไม่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จะนำเงินจากที่ไหนมาเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งในกรณีเกิดอุบัติเหตุไปจนถึงเสียชีวิต
“ถามว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ที่ต้องนำเงินภาษีของคนไทยมาดูแลรักษานักท่องเที่ยวต่างชาติ จะดีกว่าหรือไม่ หากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายค่าเหยียบแผ่นซึ่งเปรียบเหมือนการซื้อประกัน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็สามารถนำเงินเหล่านั้นมาดูแลนักท่องเที่ยวได้โดยตรง”
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนบางรายคัดค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แต่พอเกิดวิกฤติ ภาคเอกชนก็เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเยียวยา แต่เมื่อจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเพื่อนำมาจัดตั้งกองทุน กลับบอกไม่ให้ทำ ในฐานะกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่สามารถมองในมิติของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียวได้ แม้อยากจะช่วยผู้ประกอบการ แต่ที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณจริงๆ