งบโฆษณาบวก ไม่ง้ออานิสงส์บอลโลก ส่อง 10 เดือน เงินสะพัด 98,025 ล้านบาท
นีลเส็นรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา 10 เดือน แบรนด์สินค้าและบริการใช้จ่ายเงินสะพัดมูลค่า 98,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.48% บิ๊กคอร์ป "ยูนิลีเวอร์-เนสท์เล่" รัดเข็มขัด ด้านพีแอนด์จี ยังเทงบเพิ่ม เอกชนหมดหวังฟุตบอลโลกกร่อย ไม่กระตุ้นตลาด
ระหว่างวุ่นๆว่าการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ด้วยเม็ดเงิน “พันล้านบาท” มาแล้ว ยังต้องลุ้นอีกว่า “ทีวีดิจิทัล” ช่องไหน จะได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด เพราะมีรายงานออกมา ระบุว่า ช่องที่บรรดา “สปอนเซอร์” ควักเงิน จะได้ถ่ายทอด กับช่องของภาครัฐ อีกด้าน ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมองว่า รัฐนำเงินจากจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ไปแล้ววงเงิน 600 ล้านบาท ต้องได้สิทธิ์เท่าเทียมถ่ายทอดทุกช่อง
มีฟุตบอลโลกมาดึงคนดีทีวี แต่สารพันปัญหา ทำให้กูรูในอุตสาหกรรมโฆษณาประเมิน “อย่าคาดหวัง” กับเม็ดเงินที่จะสะพัดเลย
แล้วสถานการณ์ 10 เดือน ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาเป็นอย่างไร รายงานจาก “นีลเส็น” ระบุแบรนด์ใช้จ่ายเงินสะพัดมูลค่า 98,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.48% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากดูแค่เดือนตุลาคม 2565 เม็ดเงินรวมมีมูลค่า 9,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.09% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 สื่อประเภทไหนโกยเงินอย่างไร ข้อมูลจากนีลเส็น เป็นดังนี้
-ทีวี 52,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.41%
-สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 11,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.44%
-สื่อในโรงภาพยนตร์ 6,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 168.91%
-วิทยุ 2,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.78%
-สิ่งพิมพ์ 2.507 ล้านบาท ลดลง 1.72%
-สื่อในห้างค้าปลีก 727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.39%
-สื่ออินเตอร์เน็ต 22,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.15%
ทั้งนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ยังเป็นเพียงสื่อเดียวที่อยู่ในภาวะ “ติดลบ” ต่อเนื่องทั้งปี จึงเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการจะที่หาทางฟื้นรายได้ให้เติบโตในระยะยาว
หมวดหมู่ใช้จ่ายงบโฆษณา ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะนัก โดย 20 อุตสาหกรรม มีเพียง 6 หมวด ที่เตะเบรกใช้เงินหรือรัดเข็มขัด ได้แก่ ร้านค้าปลีกและร้านอาหารมูลค่า 9,751 ล้านบาท ลดลง 3% กลุ่มยานยนต์ 4,672 ล้านบาท ลดลง 2% สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน 3,126 ล้านบาท ลดลง 14% การสื่อสารและโทรคมนาคม 2,820 ล้านบาท ลดลง 15% เครื่องใช้ไฟฟ้า 1,571 ล้านบาท ลดลง 9% และเสื่อผ้า เครื่องประดับ 282 ล้านบาท ลดลง 35%
ส่วนที่เหลือเติบโตและทรงตัว โดยนำโด่งใช้เงินยังเป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 15,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% สื่อและการตลาดแบบตรง 5,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% การเงิน 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ภาครัฐ 3,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% ภาคท่องเที่ยว 1,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% เป็นต้น โดยสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง “ทรงตัว” ด้วยเม็ดเงิน 12,158 ล้านบาท
3 บิ๊กคอร์ป ใช้งบสูงสุด คงเดิม ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด มูลค่า 3,154 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามด้วย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด 2,254 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด หรือพีแอนด์จี 2,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสำนักนายกรัฐมนตรี ยังติดท็อป 10 การใช้งบโฆษณาสูงสุด มูลค่า1,069 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ใช้งบเพียง 311 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ การฟาดแข้งของมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกจะเริ่มต้น แต่ยังไร้วี่แววข้อสรุปการถ่ายทอดสด ทำให้ผู้ประกอบการไม่คาดหวังเงินสะพัด อาจเห็นแบรนด์ยืดหยุ่นโยกงบจากรายการหนึ่งมายังรายการถ่ายทอดฟุตบอลโลกบ้าง แต่คงไม่เห็นการควักเงินเพิ่ม หรือมองบวกสุดๆ อาจออนท็อปไม่เกิน 5%