ธุรกิจเอสเอ็มอีกับเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน

ธุรกิจเอสเอ็มอีกับเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน

เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจในยุคนี้ คงจะพอได้ยินหรือคุ้นเคยกับเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืน และเป้าหมายของการพัฒนาความยั่งยืนตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติที่ได้กำหนดไว้จำนวน 17 หัวข้อ

โดยมีความเชื่อว่า หากประเทศทั้งหลายที่ถือว่ามีส่วนร่วมในการเป็นประชาคมโลก และจะต้องร่วมกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบทำให้โลก ซึ่งเป็นฐานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

จากแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์บนโลก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกสูญเสียสมดุลธรรมชาติ จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกในทางเลวร้ายลง จนไม่สามารถพัฒนาให้กลับไปสู่สภาวะการดำรงอยู่ที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์โลกได้ต่อไป

จากการนำความคิดการพัฒนาความยั่งยืนไปสู่ภาคประชาสังคม องค์การสหประชาชาติพบว่า การพัฒนาความยั่งยืนของโลกเกิดขึ้นได้ช้ามากเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะดึงให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่น่าจะมีพลังขับเคลื่อนได้ดีกว่าภาคประชาสังคม ให้เข้ามาร่วมในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนทั้ง 17 หัวข้อให้ประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หลายท่านคงทราบแล้วว่า ทั้ง 17 หัวข้อของเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน หรือที่รู้จักกันในนามของ SDGs (Sustainability Development Goals) ครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง หากยังไม่ทราบ ก็อาจสามารถสืบค้นหาได้จากฐานข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในโลกอินเตอร์เน็ต

สำหรับภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี การมีส่วนช่วยในการให้โลกบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 หัวข้อ คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ดังนั้น จึงมีแนวทางให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเจตนารมณ์ดีต่อการจัดสมดุลของโลก ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่เป้าหมาย SDGs ได้ตามความเหมาะสมของขนาดและลักษณะของธุรกิจ

หลักการง่ายๆ ก็คือ การเลือกทำกิจกรรมที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่จะตอบสนองเป้าหมายของธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ

ซึ่งเป็นหลักการที่จะตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความสำเร็จและการเติบโตให้กับตัวธุรกิจเอง และยังส่งผลต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของโลก ได้ในเวลาเดียวกันถึง 3 ต่อ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ ก็คือ

(1) กลุ่มลูกค้าต่างๆ ที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของธุรกิจ

(2) ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าหรือรับบริการของธุรกิจที่อาจไม่ได้เป็นผู้ซื้อหรือผู้จ่ายเงินให้กับธุรกิจโดยตรง

(3) ผู้ขายวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ประกอบในการทำธุรกิจ หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า “ซัพพลายเออร์” ซึ่งจะรวมถึงผู้จัดหาสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ในธุรกิจ เช่น น้ำ ไฟ พลังงาน เชื้อเพลิง ฯลฯ

(4) คู่ค้า ที่มีความสัมพันธ์หรือต้องร่วมมือกันในการทำธุรกิจ ตลอดจนถึง

(5) พนักงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นของธุรกิจ ที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในของธุรกิจเอง

โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจจะต้องมีนโยบายหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และถูกถ่ายทอดไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในในรูปแบบของเป้าหมาทางธุรกิจประจำปีที่เป็นเป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะกลาง และเป้าหมายระยะยาว เพื่อเป็นสิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือกำกับธุรกิจให้เดินไปในทิศทางเดียวกันด้วยความเข้าใจที่ตรงกันของพนักงานทุกคนและหน่วยงานต่างๆ ในธุรกิจ ทำให้การเลือกกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายข้อใดข้อหนึ่งใน 17 ข้อของ SDGs ทำได้ไม่ยาก

ส่วนที่อาจยุ่งยากขึ้นมาหน่อยก็คือ การแสวงหาว่า กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกของธุรกิจ มีความต้องการในเรื่องใด และในระดับใด ซึ่งโดยธรรมชาติ บุคลากรในฝ่ายต่างๆ ของธุรกิจย่อมที่จะมีการติดต่อคุ้นเคยกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว เช่น ฝ่ายขายกับลูกค้า ฝ่ายการตลาดกับผู้บริโภค ฝ่ายจัดซื้อหรือฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์กับซัพพลายเออร์ ฝ่ายช่างกับผู้ชายเครื่องจักร อุปกรณ์ และผู้ในบริการสาธารณูปโภค ฯลฯ

ธุรกิจสามารถใช้ช่องทางในการติดต่อทางธุรกิจเหล่านี้ เพื่อตอบคำถามได้ว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มใด มีความต้องการที่จะได้จากธุรกิจในเรื่องใด และความต้องการเหล่านั้น สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ในข้อใด

เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือแล้ว ธุรกิจก็จะสามารถคิดกลยุทธ์ธุรกิจหรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป้าหมายพัฒนาความยั่งยืนของโลกได้โดยไม่ยาก

แนวทางที่ว่านี้ ในภาษาวิชาการ อาจใช้คำว่า “ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน” “ประเด็นสำคัญทางธุรกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน” “สารัตถภาพของประเด็นการพัฒนาความยั่งยืน” ฯลฯ ที่มาจากคำว่า Materiality ในภาษาอังกฤษ

เอสเอ็มอีที่สนใจด้านการพัฒนาความยั่งยืน อาจใช้คำสืบค้นเหล่านี้เพื่อศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ต่อไป หรืออาจติดตามบทความในคอลัมน์นี้ ซึ่งจะนำเสนอเนื้อหาด้านการพัฒนาความยั่งยืนในบริบทและมุมมองของธุรกิจขนาดเล็กและเอสเอ็มอี เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม