'นันยาง' ลุยรับเปิดเทอม ดันรายได้โตเป็นประวัติการณ์
รู้หรือไม่ ผลิตรองเท้านักเรียน ทำตลาดทั้งปี 365 วัน แต่ช่วงขายดีสุดคือ เปิดเทอมใหญ่พฤษภาคม มีสัดส่วนถึง 80% ทุกแบรนด์ต้องออกอาวุธตลาดซื้อใจพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะแพ้ปีนี้ สู้อีกทีปีถัดไปตาม Zero-Sum Game "นันยาง" ชูแคมเปญ “BULLY NO MORE” ลดกลั่นแกล้งในโรงเรียน
เข้าใกล้เปิดเทอมใหญ่ 16 พฤษภาคม สินค้านักเรียนคึกคัก แบรนด์ต้องเร่งอัดแคมเปญ ลุยสื่อสารการตลาด เพื่อชิงยอดขาย รองเท้านักเรียนเบอร์ 1 “นันยาง” ทุ่ม 70 ล้านบาท ปั๊มรายได้ปี 2566 โต 8-10% ขานรับพ่อแม่ผู้ปกครองอั้นใช้จ่ายมา 3 ปี
นายจักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2566 แนวโน้มตลาดรองเท้านักเรียนกลับมาเติบโตอีกครั้งประมาณ 3-5% จากปี 2563-2565 อยู่ในภาวะทรงตัว สำหรับปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวเกิดจากปลดล็อกการอั้นใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมาช่วงโควิดการเปิด-ปิดภาคเรียนไม่ปกติ มีการเลื่อนออกไปจากเดิมบ้าง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาด
ทั้งนี้ ช่วงเปิดเทอม(Back to School) พ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนจะมีการซื้อรองเท้าตั้งแต่เดือนเมษายน ปลายสงกรานต์ จนถึงพฤษภาคม คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการขายทั้งปี และเฉพาะเดือนพฤษภาคมทุกแบรนด์จะออกอาวุธการตลาดแข่งขันเพื่อช่วงชิงยอดขาย เนื่องจากตลาดรองเท้านักเรียนเป็นสมรภูมิ Zero-Sum Game ซึ่งตรงข้ามกับ Win-win
“ตลาดรองเท้านักเรียนมีผู้เล่น 10-15 ราย การแข่งขันเป็น Zero-Sum Game เหมือนเลือก ส.ส. มีผู้แพ้-ชนะ เพราะถ้าทำให้นักเรียนเลือกซื้อใส่แบรนด์หนึ่งแล้ว จะไม่ใส่อีกแบรนด์ ซึ่งต้องรอปีหน้าไปเลย ดังนั้น ทุกแบรนด์จะโหมทำการตลาด สื่อสารแคมเปญเต็มที่ก่อนเปิดเทอม ปีนี้เมื่อถึงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันแรงงาน เงินเดือนออก จะเห็นการซื้อรองเท้านักเรียนให้บุตรหลาน หากผู้เปราะบางไม่มีเงิน จะขยับการซื้อล่าช้าออกไปเล็กน้อย”
สำหรับนันยาง วางงบประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย และเปิดเทอมนี้ยังคงสานต่อแคมเปญ “BULLY NO MORE” หรือ #บูลลี่ในโรงเรียนหยุดได้ด้วยนักเรียน ซึ่งทำตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทยมากถึง 6 แสนคนต่อปี สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จากการสำรวจข้อมูลเชิงลึก(Iisight)พบว่าปัญหาที่เด็กนักเรียนกังวลมากสุด ไม่ใช่เรื่องเรียนเก่ง โตไปจะทำงานอะไร หรือสิทธิต่างๆ แต่คือการบูลลี่ และอยากให้ประเด็นดังกล่าวหมดไปจากโรงเรียน
“แคมเปญ BULLY NO MORE เราสื่อสารกับนักเรียน โฟกัสการหยุดบูลลี่ในโรงเรียนด้วยนักเรียน ไม่พูดถึงคนอื่นเลย ซึ่งมีภาคส่วนอื่นดำเนินการอยู่ ซึ่งการบูลลี่มีนักเรียน 3 ส่วนที่มีส่วนร่วมในการหยุดปัญหาคือผู้บูลลี่ ผู้ถูกบูลลี่และผู้ที่อยู่เฉยๆ ซึ่งเป้าหมายสูงสุด เราต้องการช่วยนักเรียนหนึ่งคนได้ถือว่าโอเคแล้ว”
พร้อมกันนี้ บริษัทได้ออกรองเท้าผ้าใบนักเรียนรุ่นพิเศษ “Nanyang ‘BULLY NO MORE’ Special Edition” โดยสละพื้นที่โลโก้นันยางบนรองเท้า ให้เป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ BULLY NO MORE เพื่อประกาศจุดยืนในเรื่องนี้ให้ชัดเจน และเชิญชวนนักเรียนทั่วประเทศมาเป็นแนวร่วมทุกครั้งที่ได้เห็นข้อความบนรองเท้า ซึ่งรองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษมีเพียง 2,566 คู่ ผู้ที่อยากได้จะต้องร่วมกิจกรรมกับทางแบรนด์
สละพื้นที่แบรนด์ Nanyang ให้สัญลักษณ์ยุติการ Bully
“คาแร็กเตอร์นันยางชัดเจนในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแบรนด์อยู่คู่นักเรียนมา 70 ปี นักเรียนไทยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัว ทำยังไงให้ซ้ำชั้นแบบนี้(เพื่อครองใจนักเรียน) โดยมี 3 หัวใจสำคัญคือดูว่าลูกค้าต้องการอะไร Brand Purpose และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง”
จากแผนการทำตลาดที่วางไว้ บริษัทคาดว่าจะผลักดันยอดขายให้เติบโต 8-10% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปี 2565 ยอดขายกว่า 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นนันยางและช้างดาวสัดส่วน 50% เท่ากัน และสินค้ายังมีการส่งออก 25% ซึ่งเติบโตคู่ตลาดในประเทศ
“ที่ผ่านมาบริษัทค่อนข้างระมัดระวัง ตั้งเป้าเติบโตเพียง 3-5% โดยปี 2563-2565 ยอดขายบริษัทโตเฉลี่ย 2% มีปี 2562 ที่โตกว่า 10%”
สำหรับตลาดรองเท้านักเรียนมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้าน แบ่งเป็นรองเท้านักเรียนชาย 60% รองเท้านักเรียนหญิง(PVC)35% และอื่นๆ 5 ปี โดยใน 1 ปี นักเรียนชายใส่รองเท้าเดินราว 8,900 ก้าวต่อปี นักเรียนหญิงเดิน 6,000 ก้าวต่อปี
อย่างไรก็ตาม นันยาง ครองส่วนแบ่งตลาด 43-44% เป็นเบอร์ 1 รองเท้านักเรียน โดยมีสินค้า 4 รุ่นตอบกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นันยางคลาสสิคพื้นเขียวขายมา 70 ปี ราคาเริ่มต้น 320 บาท นันยางแฮฟฟันเจาะนักเรียนชั้นประถมอายุ 4-10 ปี ราคา 299 บาท นันยางซูเปอร์สตาร์ ไฟต์ติ้งแบรนด์เจาะคนกำลังซื้อน้อย ราคา 199 บาท และนันยางซาฟารี เจาะเด็กโต วัยนักศึกษา ราคา 299 บาท