'บัซซี่บีส์' ตั้งเป้าสู่เดคาคอร์น สตาร์ตอัปไทย มูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์
รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ 'กรุงเทพธุรกิจ' สัมภาษณ์พิเศษ ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (BUZZEBEES) ที่มีเป้าหมายในการนำพาสตาร์ตอัปไทยสู่ 'เดคาคอร์น' (Decacorn) ที่มีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
Key Point :
- SUITS Sustainability สัมภาษณ์พิเศษ ณัฐธิดา สงวนสิน แห่ง 'บัซซี่บีส์' Tech Startup ของไทยที่มีเป้าหมายสู่เดคาคอร์น มูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์
- การเป็นผู้นำด้าน CRM & Digital Engagement Platform ครบวงจร ของบัซซี่บีส์ เรียกว่าเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง สะท้อนได้จากรายได้กว่า 1,751 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
- ขณะเดียวกัน ความยั่งยืน ในมุมมองของบัซซีบีส์ ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่มองทั้งระบบครอบคลุม ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
เข้าสู่ปีที่ 11 ของ 'บัซซี่บีส์' Tech Startup ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ผู้นำด้าน CRM & Digital Engagement Platform ครบวงจร ด้วยวิสัยทัศน์ CONNECTING THE WORLD และเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในวันนี้ บัซซี่บีส์ ไม่ใช่แค่บริษัทที่เป็นผู้นำด้าน Loyalty Platform แต่เป็นธุรกิจที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในโลกดิจิทัล (Digital Infrastructure)
'ณัฐธิดา' เผยถึงจุดเด่นของ 'บัซซี่บีส์' ว่า บัซซี่บีส์ ทำ N2N สำหรับผู้บริโภค ขณะที่ตลาดธุรกิจสามารถหิ้วกระเป๋ามาใบเดียวทำผลิตภัณฑ์กับเราได้เลย เราทำตั้งแต่แพลตฟอร์มเป็น IT Solution ที่หลากหลายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น แอนดรอยด์ , IOS , ไลน์ , Facebook Messenger , Whatsapp และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า , ช้อปปี้ , NocNoc , TikTok , LINE SHOPPING
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘บิทคับ’ เร่งเครื่องดัน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ในไทย
- นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร บริหารคนนอกตำรา ฉบับ สมิติเวช
- 33 ปี 3 วงการของ "ศุภจี" ตกผลึกปั้น "ดุสิตธานี" ชูความเป็นไทยบนเวทีโลก!
พอมีแพลตฟอร์มแล้วทำอย่างไร ให้คนมาใช้แพลตฟอร์มซึ่งยากมาก บัซซี่บีส์ จึงมีส่วนของ Reward Strategy Program ซึ่งเป็น Loyalty Program ให้คนมาแลกรับของรางวัล ของรางวัลก็ต้องวางแผนทั้งของรางวัลทั่วไป วันพ่อ วันแม่ ตรุษจีน ฯลฯ เป็นการทำตลาด นอกจากนี้ ต้องสร้างการซื้อขาย มีอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ลูกค้าสามารถมาที่นี่และจบในที่เดียวเริ่มจากศูนย์จนประสบความสำเร็จ และสุดท้ายการทำเกี่ยวกับธุรกิจการค้าปลีก (Retail Business)
“เวลาคนไปแลกของรางวัลจะต้องมีจุดรับ และจุดรับเหล่านี้ก็กลับมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับโปรแกรมรีวอร์ดของ บัซซี่บีส์ กลับมาขายของบนอีคอมเมิร์ซของ บัซซี่บีส์ กลับมาเป็น Loyalty Program และสุดท้าย Marketing activation media เพื่อให้คนกลับมาซื้อของ มา Engagement มามี Loyalty Program เพราะฉะนั้น มันจบในเส้นเดียว แต่เบื้องหลังเรียกว่าทำงานกันหลายทีม พนักงานในออฟฟิศเกือบ 600 ชีวิต”
'ดิจิทัล' ต้องบิดจนกว่าจะได้
ปัจจุบัน บัซซี่บีส์ มีลูกค้าที่เป็น Corporate ประมาณ 350 ราย ลูกค้า SME กลุ่มค้าปลีกราว 2,000 – 3,000 ราย และ SME ในอีโคซิสเต็มราว 10,000 ราย และมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มกว่า 145 ล้านบัญชี พร้อมกับตั้งเป้า อย่างน้อยภายใน 5 ปี การบุกตลาด ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย จะต้องมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า
'ณัฐธิดา' กล่าวต่อไปว่า เราเป็นคนทำดิจิทัล ไม่เคยมี Success มีแต่ Failed ก่อน ดิจิทัลเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ต้องบิดจนกว่าจะได้ กราฟจะเป็นเส้นตรงและพุ่งขึ้นไป ถ้าไม่บิดก็จะไม่มีวันได้พุ่ง ส่วนใหญ่ดิจิทัลขึ้นไปวันเดียวรู้แล้วว่าเวิร์กหรือไม่ เพราะเรามีดาต้าทำให้รู้ว่าแบบไหนปัง กลยุทธ์มีหลายเลเยอร์ และแตกต่างกันไปหลายเซ็กเตอร์ของลูกค้า ยกตัวอย่าง ธุรกิจเด่นๆ ที่ทำแล้วเวิร์กมากๆ คือ B2B ทำ Loyalty ให้ค่าส่ง ค่าปลีก ซื้อของแล้วได้ของรางวัล และของรางวัลเอาไปแลกสินค้าได้ เพราะค่าส่ง ค่าปลีก บางแบรนด์ยังไม่รู้เลยว่าขายของหน้าร้านทำยอดได้เท่าไร ไม่เคยรู้เลยถ้าขายแบรนด์นี้ได้เท่านี้ จะได้ของรางวัล
ทั้งนี้ การพัฒนากลยุทธ์แบบ CRM หรือการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ ที่ครอบคลุมในดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่เพียงขับเคลื่อนปฏิสัมพันธ์ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นการเติบโต ส่งเสริมความภักดีต่อแบรนด์ การใช้ประโยชน์จากเอไอ เพื่อการคาดการพฤติกรรมของลูกค้า เป็นกลยุทธ์เชิงรากฐานที่องค์กรต้องดำเนินการ เพื่อเข้าใจความต้องการ ความชอบ และปัญหาของลูกค้า สร้างประสบการณ์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
เป้าหมายสู่เดคาคอร์น
เมื่อถามถึงเป้าหมายสู่ 'เดคาคอร์น' ซึ่งมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านเหรียญ 'ณัฐธิดา' กล่าวว่า เรามีเป้าหมายสู่จุดถัดไป มีจุดพันล้าน และมองว่าจุดหมื่นล้านจะต้องเดินท่าประมาณไหน แต่สุดท้ายในโลกดิจิทัล คือ ไร้กระบวนท่า เราตั้งทีม Moonshot ที่จะต้องทำให้ถึงเป้า บัซซี่บีส์ เป็นบริษัทที่ตั้งเป้าไว้และต้องไปให้ถึง และมีการปรับตัวตลอดเวลา
การขับเคลื่อนองค์กรของ บัซซี่บีส์ ผ่าน 5 Core Values ที่เปรียบเสมือน DNA ได้แก่
- Be Fast ทำงานเร็ว อย่าคิดช้า คิดแล้วต้องทำ
- Be Bold กล้าทำ ต้องกล้าเฟล
- Be Inspired ให้กำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองและผู้อื่น
- Be Persistent คีย์สำคัญ คือ อย่ายอมแพ้ ยอมแพ้คือจบ และ
- Beyond Expectation เหนือความคาดหมาย ทำให้ดีกว่าที่สามารถทำได้
“เราทำงานด้วยวิธีนี้ไม่ว่ากับตัวเราหรือลูกค้า หากลูกค้าต้องการเป้าหมาย 20 ล้านบาทในปีนี้ เราต้องคิดว่าจะทำให้ถึง 20 ล้านบาทยังไง หรือวันนี้จะไปยูนิคอร์นอย่างไร จะไปหมื่นล้านเหรียญได้อย่างไร เรารู้ว่า บัซซี่บีส์ ต้องเอาโปรดักส์ไปให้คนอื่นขาย หากสามารถทำโปรดักส์ได้เจ๋งจริงๆ ทำการตลาดได้เจ๋งจริงๆ ก็คือใครก็ได้ที่หยิบโปรดักส์ไปขาย นี่คือกลยุทธ์ เรารู้ว่าต้องไปทางนั้น”
ขณะเดียวกัน AI นับเป็นสำคัญ สำหรับการทำธุรกิจโดยเฉพาะในยุคดิจิทัล “ณัฐธิดา” มองว่า AI เป็นสิ่งที่เรามองว่าถ้าไม่ใช้ คือ จะตายจากตลาด เพราะเป็นเครื่องมือที่เจ๋งมาก โดยเอาเอไอไปบูรณาการกับคนที่ทำงาน อัปสกิลเพิ่มทักษะ แต่ต้องไม่เพิ่มคน การทำงานเรียกว่ามีความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา
ความยั่งยืน ต้องสร้างอิมแพค
สำหรับ บัซซี่บีส์ เรียกได้ว่าปักธงหนักแน่น และมองเห็นภาพในอนาคตในการนำพาสตาร์ตอัปไทยไปสู่ เดคาคอร์น ที่มีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากมีองค์กรขนาดใหญ่ และพนักงานกว่า 600 ชีวิต รวมถึงการนำ AI มาใช้ในองค์กร การที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั่น จึงไม่ใช่แค่มองเรื่องของลดใช้ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อม แต่ต้องครอบคลุม ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental , Social และ Governance)
“ความยั่งยืนในส่วนของ บัซซี่บีส์ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็น CSR แต่ต้องสร้างอิมแพค และอยู่ใน DNA การที่คิดเรื่อง Marketing ต้องไม่ใช่การผลัก Marketing ไปสู่ผู้บริโภค แต่ต้องอยู่กับตัวเขา เหมือน บัซซี่บีส์ ที่มองว่าทำอย่างไรในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เจ๋ง ทุกวันนี้ บัซซี่บีส์ มีการแลกรับของรางวัลประมาณ 2 ล้านต่อเดือน สามารถใช้มือถือ เอาไปโชว์ตอนจ่ายเงิน สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วจบ ทำอย่างนี้กับทุกอย่างแม้กระทั่งทอง แจกทอง ไปที่ร้านทองแล้วแจกทอง”
ขณะเดียวกัน SME ต้องการรายได้เข้าร้าน สิ่งที่ บัซซี่บีส์ ทำ คือ ให้ Corporate มาซื้อของจากคนตัวเล็กโดยตรง มีช่องทางที่เชื่อมกัน ให้คนตัวเล็กสามารถขายของได้ 20,000 – 30,000 ราย นี่คือ อิมแพค เวลาพูดเรื่อง Environment อิมแพคของ บัซซี่บีส์ อย่าคิดที่ 500-600 คนเป็นโจทย์ แต่ต้องคิดแคมเปญที่ 145 ล้านบัญชีเป็นโจทย์
“ดังนั้น เรื่องของ ESG ในมุมมองของเรา คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) ลดมลภาวะ ลดการใช้กระดาษ Paperless , ด้านสังคม (Social) ช่วยในเรื่องของผู้ประกอบการรายเล็กๆ หาพันธมิตรขนาดใหญ่ และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งอยู่ใน DNA ของผู้บริหารของที่นี่ ต้องมีความโปร่งใส” ณัฐธิดา กล่าวทิ้งท้าย