3,000 อีเวนต์ ทิ้งทวนปี 66 ลุ้นเทศกาล ‘สงกรานต์’ พลิกโฉมธุรกิจปีหน้า
ธุรกิจอีเวนต์สดใสส่งท้ายปี 2566 คอนเสิร์ต เทศกาล งานประเพณี กิจกรรมเคานต์ดาวน์ ปลุกเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ ประเมินปี 2567 ยังมีแรงส่งจากนโยบายรัฐจัดสงกรานต์ 1 เดือน คาดมีไอเดียจัดงานพลิกโฉมอีเวนต์
นอกจากนี้ ยังมีซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้มีเงินผันเข้าตลาด คอนเสิร์ตโดยเฉพาะ “เกาหลี” ยังแห่มาไทย ดึงแฟนคลับ-แม่จีนตามมาเปย์
เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมจาก อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ธุรกิจอีเวนต์ทั่วประเทศไทยถือว่ามีความคึกคักอย่างมาก เนื่องจากมีการจัดงานทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต งานเทศกาล ประเพณี ไปจนถึงกิจกรรมเคาท์ดาวน์ฉลองปีใหม่ ซึ่งคาดการณ์มีงานรวมกันกว่า 3,000 งาน เงินสะพัดพลัก 3000-4,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญคือการจัดงานเคาท์ดาวน์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ห้างค้าปลีกมีการประชันกิจกรรมส่งท้ายปีสุดยิ่งใหญ่อลังการ เช่น ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ที่มีการจุดพลุ 50,000 ดอก การแสดงโดรนกว่า 2,000 ลำ ซึ่งอินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ ได้รับหน้าที่นำเสนอการโชว์โดรนดังกล่าว รวมถึงกิจกรรมเคาท์ดาวน์ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งบริษัทได้งานดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัด หัวเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา ฯ ต่างทุ่มงบประมาณเนรมิตอีเวนต์เพื่อดึงผู้คนเข้าร่วม ซึ่งหากประเมินการจัดอีเวนต์ในภาพรวมทั่วไทย แต่ละงานใช้เงินจำนวนไม่น้อย เช่น ห้างค้าปลีกจัดงานเคานต์ดาวน์ ลงทุนหลัก 10-20 ล้านบาท ไม่รวมกับงบประมาณในการโปรโมทของห้าง เป็นต้น
“อีเวนต์ 2 เดือนสุดท้าย มีจำนวนงานที่จัดมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อน นอกจากอีเวนต์จะอยู่ในกรุงเทพฯ จะเห็นว่าปีนี้มีงบประมาณจากองค์กรท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต. องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ. แข่งกันทุ่มเม็ดเงินจัดงานเพื่อแย่งคน ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่”
เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน
ปัจจัยบวกปลุกภาพรวมธุรกิจอีเวนต์โค้งสุดท้ายปี คือนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงหรือเปิดผับถึงตี 4 ในบางพื้นที่ ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆจัดได้ถึงเช้า ไม่ว่าจะเป็นเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การจัดคอนเสิร์ตดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์หรืออีดีเอ็มที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น
“นโยบายการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจเรียกร้องมานาน เมื่อรัฐบาลไฟเขียวทำให้การจัดอีเวนต์มีพลังมากขึ้น”
ส่วนแนวโน้มปี 2567 คาดการณ์ธุรกิจอีเวนต์ยังคงขยายตัวจากแรงส่งหลายประการ โดยเฉพาะไฮไลต์ใหญ่คือการจัด "เทศกาล สงกรานต์” หรือปีใหม่ไทย ที่จะกินเวลา 1 เดือน แต่ที่น่าสนใจคือการเนรมิตงานเพื่อดึงดูดคนเข้าร่วม อย่างการจัดแสดงขบวนแห่ต่างๆ ซึ่งมิติของคนไทยอาจดูเบื่อ แต่สำหรับต่างชาติคือการได้เห็นประเพณีการสาดน้ำ วัฒนธรรมของไทยเหมือนในอดีต จะมีความตื่นเต้นอย่างมาก รวมถึงการปลดล็อกเรื่องต่างๆ เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมดึงคนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาราชมังคลาสถาน ที่เบื้องต้นมีผู้จัดอีเวนต์สงกรานต์รายใหญ่ต้องการย้ายทำเลจากที่จัดเดิมไปยังราชมังคลาฯ
“ปีหน้าสงกรานต์จะเป็นสิ่งที่พลิกโฉมธุรกิจอีเวนต์”
นอกจากนี้ นโยบายการสนับสนุน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล ที่จะมีการใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนไหนจะได้รับประโยชน์มากน้อย ยังต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร(Food) ภาพยนตร์(Film) แฟชั่น(Fashion) เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีแรงส่งจากนโยบายจีนที่ยังไม่ไฟเขียวให้คอนเสิร์ตต่างชาติเข้าไปจัดในประเทศไทย เป็นอีกโอกาสที่ไทยจะได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะคอนเสิร์ตเกาหลี ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ นักท่องเที่ยวจีนจะบินมาไทยมากขึ้นเพื่อดูศิลปินคนโปรดขึ้นแสดง และพำนักอาศัย เที่ยวในไทยต่อ อย่างคอนเสิร์ตของนักร้องดังเจย์ โชว์ แสดงที่ไทยรอบ 20 ปีที่ราชมังคลาฯ ล้วนมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาชมจำนวนมาก
“นิยามธุรกิจอีเวนต์ปี 2566 ถือเป็นสเต็ปที่เราหลุดพ้นจากโรคระบาด 100% และตลาดจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ”
ในส่วนของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ฯ ปีหน้ายังลุยสร้างโปรเจคสถานที่เที่ยว (attraction) ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์ถาวร 3-5 ปี ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีพันธมิตร นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน และสร้างสถานที่เที่ยวต่อยอดธุรกิจ อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์ดังกล่าวความท้าทาย คือ การขอใบอนุญาตจากภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานาน