‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

'ท่องเที่ยว' รับภาระหนักแบกเศรษฐกิจไทย สทท.ชี้ครึ่งปีหลังเผชิญปัจจัยลบอ่วม คนไทยหนี้ท่วม เศรษฐกิจโลกโตต่ำ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สุดเปราะบาง ดุสิตธานีชี้ 'วีซ่าฟรี' มาถูกทาง แต่มีอีกหลายเรื่องต้องแก้ ด้าน ททท. หวังดันปี 67 ต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 38 ล้านคน

KEY

POINTS

  • “ท่องเที่ยว” รับภาระหนักแบกเศรษฐกิจไทย “สทท.” ชี้ครึ่งปีหลังเผชิญปัจจัยลบอ่วม คนไทยหนี้ท่วม เศรษฐกิจโลกโตต่ำ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สุดเปราะบาง
  • พร้อมจี้รัฐเร่งสาง 4 ปัญหาใหญ่ “วิกฤติฝุ่น PM-ตั๋วบินแพง-เพิ่มทักษะคน-ท่องเที่ยวโลกแข่งเดือด”  
  • “ดุสิตธานี” ชี้ “วีซ่าฟรี” มาถูกทาง แต่มีอีกหลายเรื่องต้องแก้
  • ด้าน “ททท.” หวังดันปี 67 ต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 38 ล้านคน เตรียมอัดแผนกระตุ้นแรง หนุนยอดไตรมาส 4 พุ่ง

ภาคการท่องเที่ยว เครื่องยนต์หลักแบกเศรษฐกิจไทย กับเป้าหมายสุดท้าทายตามนโยบายของรัฐบาล สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ตลอดจนครึ่งปีหลัง เป็นห้วงเวลาสำคัญที่ภาคเอกชนและภาครัฐต้องเร่งเกียร์ กระตุ้นทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท. คาดว่าทั้งปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35-36 ล้านคน สร้างรายได้ 1.68 ล้านล้านบาท ในเชิงดีมานด์ยังมีโอกาสที่จะช่วยเพิ่มรายได้ไปให้ถึงเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยว 3-3.5 ล้านล้านบาท ปัจจัยความสำเร็จขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทั้งในเชิงงบประมาณและการสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีความท้าทายเร่งด่วน 4 ข้อ คือ วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ทักษะคนท่องเที่ยว ค่าตั๋วเครื่องบินแพง และการแข่งขันในช่วงโลว์ซีซันไตรมาส 2-3 ที่หลายประเทศอัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างดุเดือด

จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสม 9.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย มีจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สทท. ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 พบว่าอยู่ที่ระดับ 81 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่ระดับ 77 และไตรมาส 1/2566 ที่ 74

สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก (ปกติ 100) แต่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด โดยภาพรวมธุรกิจที่พักแรมมีอัตราการเข้าพัก 60% น้อยกว่าไตรมาส 4/2566 ภาคใต้มีอัตราการเข้าพักสูงที่สุด 72% รองลงมาคือภาคตะวันออก 64% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักน้อยที่สุด 51%

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

“สงกรานต์” หนุนดัชนีเชื่อมั่น Q2 ฟื้น

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 จากผู้ประกอบการทั่วประเทศ อยู่ที่ระดับ 83 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นจากบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ภายในประเทศ ได้แก่ ประเทศไทยและจีนได้ประกาศยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวของกันและกัน มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ทั้งยังส่งผลให้มีจำนวนเที่ยวบินจากไทย-จีนเพิ่มมากขึ้น จากราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้รับอนุมัติ น่าจะเบิกจ่ายเงินได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นขึ้น ถือเป็นตัวช่วยในการประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และจะหนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

 

“หนี้ท่วมคนไทย” หวั่นกระทบอีกหลายปี

ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ต้องจับตา คือเรื่องหนี้เสีย (NPL) มีสัญญาณเร่งตัว จากข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ปี 2566 มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 6.6% เทียบกับปี 2565 โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กลุ่มหนี้เสียสินเชื่อยานยนต์ ขยายตัวถึง 28% บัตรเครดิตขยายตัว 11.9% และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 12% นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 17.8% จากปี 2565 และจากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า กระทบต่อสภาพคล่องของครัวเรือนต่อไปในระยะข้างหน้าอีกหลายปี

“ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในคนไทยมากขึ้น หลังวิกฤติโควิดยุติลงด้วย ประชาชน 50% ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิมก่อนโควิด ในทางกลับกันมีเพียง 10% ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่าระดับเดิมก่อนโควิด มีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนและการสร้างหนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด”

การยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน หลังจากมาตรการนี้สิ้นสุดลงเมื่อ 31 มี.ค. 2567 ส่งผลต่อต้นทุนด้านการขนส่งของธุรกิจและต้นทุนในการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงวันหยุดยาว ราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยเลือกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปเที่ยวได้มากกว่าประเทศไทย

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

 

ปัจจัยเสี่ยง “นอกประเทศ” คุกรุ่นรอปะทุ

ด้านปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ มีเรื่องเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแบบยืดเยื้อ หลังเผชิญภาวะเงินฝืดมาแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน ถือเป็นภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชีย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) และมีแนวโน้มว่าภาวะนี้จะดำเนินต่อไป การที่กำลังซื้อในประเทศจีนอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าและบริการของจีนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการท่องเที่ยวของคนจีนที่ยังไม่ออกท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างที่ประเทศต่างๆ คาดหวัง เนื่องจากความไม่มั่นใจของชาวจีนในการใช้จ่ายเงิน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่ากังวล

เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี (ไม่นับรวมกับกรณีเศรษฐกิจโลกหดตัวในปี 2563-2565 จากวิกฤติโควิด) ซึ่งพบว่ามีการขยายตัว 2.4% ลดลงจาก 2.6% ในปี 2566”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ยังมีความเปราะบางและเสี่ยงสูง พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อราคาน้ำมันโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในยูเครนและอิสราเอล ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ก็ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

“วีซ่าฟรี” มาถูกทางแต่มีหลายเรื่องต้องแก้ต่อ

นายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวตลอดปี 2567 น่าจะดี ขณะนี้มีที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทยมากขึ้น และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการศูนย์การค้า มองว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวดีขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางซึ่งมีรายได้สูง เดินทางมาจับจ่ายในไทยดีมาก อีกหนึ่งปัจจัยคือผลจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในรอบ 30 ปี ตั้งแต่ต้นปี 2565 เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดี

ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรป ด้วยพฤติกรรมของเขาไม่ได้นิยมการชอปปิงจะเน้นท่องเที่ยวพักผ่อนทั่วไป ซึ่งก็เป็นส่วนที่ดี ส่วนตลาดอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อาเซียน เริ่มกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น ด้านจีนเริ่มกลับมา เกาหลีกลับมาแล้วเช่นกัน แต่ญี่ปุ่นยังไม่กลับมามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์เที่ยวบินระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มียอดจองเต็มจากคนไทยที่นิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นอย่างมาก

จากผลงานรัฐบาลในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ดีที่สุดคือมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) แก่นักท่องเที่ยวตลาดเป้าหมายหลายประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น หลังดีมานด์อัดอั้น 

"นโยบายนี้ของรัฐบาลถือว่าดี ไม่ได้ชม แต่เห็นว่าดี ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องให้ต้องแก้ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินที่ยังค่อนข้างสูง เร่งแก้ให้ราคาลดลงด้วยการเพิ่มเที่ยวบินดึงคนเข้ามา ภาพลักษณ์ความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวเป็นเรื่องหลักที่ต้องยกระดับอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากให้รัฐบาลกระตุ้นคือเรื่องคุณภาพและการใช้จ่าย ไม่ใช่กระตุ้นเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยว"

รวมไปถึงการกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพราะหลายประเทศพยายามกระจายนักท่องเที่ยวไปเมืองรองมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ที่มีคนไปเที่ยวจำนวนมากจากมาตรการวีซ่าฟรี หลังเมืองใหญ่มีปัญหาเรื่องการรองรับ ส่วนในประเทศไทยก็อยากให้เน้นโปรโมตเมืองรอง เมืองเล็กๆ เพื่อลดความแออัดและกระจายรายได้

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน

 

ททท.ดันยอดต่างชาติปี 67 ทะลุ 38 ล้านคน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนต่อเดือนแน่นอน ยาวไปถึงครึ่งปีหลัง โดย ททท.เตรียมกระตุ้นตลาดแรงๆ ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซันของตลาดนักท่องเที่ยวยุโรป แต่ไตรมาส 2-3 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเอเชียและตะวันออกกลางเข้ามาอยู่แล้ว

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยปีนี้ ททท.อยากดันไปให้ถึง 38 ล้านคน เพราะสิ่งสำคัญคือการตอบโจทย์ด้านรายได้ด้วย เพื่อให้มีรายได้ตลาดต่างประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้ตลาดในประเทศอีก 1.2 ล้านล้านบาท ก็จะอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาทตามเป้าหมายเชิงนโยบายของรัฐบาล จริงอยู่ว่าถ้าเราต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพ เรื่องจำนวนอาจไม่ใช่ประเด็น แต่อย่างน้อยตอนนี้เมื่อเราต้องการเห็นรายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้สูงกว่าเป้า เราก็ต้องได้จำนวนเพิ่มขึ้นด้วย”

‘ท่องเที่ยว’ ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแบกเศรษฐกิจ ลุ้นปี 67 ดันยอดทัวริสต์ 38 ล้านคน