ปัจจัยสำคัญที่เอสเอ็มอีไทยต้องผนวกเข้าไปในกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ธุรกิจ

ปัจจัยสำคัญที่เอสเอ็มอีไทยต้องผนวกเข้าไปในกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ธุรกิจ

การทำธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในอนาคตที่เริ่มจะเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น หนีไม่พ้นเรื่องการนำประเด็นการพัฒนาความยั่งยืน ที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในกระบวนการทำธุรกิจ

ทิศทางของการทำธุรกิจในอนาคตที่เริ่มจะเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการนำประเด็นการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development – SD) ที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องแสดงออกอย่างชัดเจนในลักษณะที่เป็นรูปธรรมในกระบวนการทำธุรกิจของตนเอง

ทำให้แนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ อาจต้องเปลี่ยนไปจากแนวทางในอดีตที่เคยทำมา เพื่อให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้ต่อไปในอนาคต


เมื่อนำเรื่องของความยั่งยืนมาเป็นโจทย์หลักในการกำหนดวิสัยทัศน์ของธุรกิจ เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอี อาจตั้งวิสัยทัศน์ที่จะเป็นเข็มมุ่งหรือแนวทางหลักของธุรกิจด้วยการมองอนาคตของธุรกิจได้หลากหลายทางเลือก ตัวอย่างเช่น

กำหนดว่า ธุรกิจจะยึดมั่นในการนำหลักการของการบริหารกิจการอย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด เช่น การยึดมั่นต่อความรับผิดชอบทางธุรกิจ การทำธุรกิจด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจตลอดห่วงโซ่ของการดำเนินธุรกิจ การดูแลพนักงาน การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน หรือการให้สินบนเชิงธุรกิจ

หรือกำหนดว่า ธุรกิจจะดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบใดๆ ที่จะเป็นปัญหาต่อสังคมทั้งในระดับชุมชนรอบข้างไปจนถึงสังคมโดยรวมในวงกว้าง นอกจากวิสัยทัศน์ที่จะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแล้ว ยังผนวกแนวทางในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันผลกำไรจากธุรกิจมาบริจาคช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง การไม่ใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย หรือการสนับสนุนการศึกษาหรือสร้างเสริมสุขลักษณะและสุขอนามัยในชุมชน เป็นต้น

อีกแนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ คือ กำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลก ไม่ทำให้เยาวชนรุ่นหลังต้องมีภาระในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้โลกและธรรมชาติเสื่อมโทรมลง โดยธุรกิจจะยึดมั่นในการสร้างธุรกิจให้มีความมั่งคั่งและมั่นคงไปอย่างยาวนาน โดยการทำธุรกิจที่ให้น้ำหนักผสมผสานระหว่างการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุลกัน

เมื่อกำหนดวิสัยทัศน์ที่เป็นเข็มมุ่งในอนาคตแบบใดแบบหนึ่งได้แล้ว ธุรกิจก็อาจมากำหนดว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายระยะยาวตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

ธุรกิจจะต้องใช้กลยุทธ์การดำเนินการด้วยวิธีใดบ้าง ซึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการหรือการริเริ่มทางธุรกิจใหม่ๆ อาจได้แก่

1.กลยุทธ์การถนอม รักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การไม่ใช้วัตถุดิบที่จะทำลายธรรมชาติ ใช้แล้วหมดไป หรือใช้แล้วหามาทดแทนเพิ่มเติมได้ยาก ให้ความสำคัญกับการนำวัตถุดิบหรือวัสดุเพื่อการผลิตที่นำมาใช้ซ้ำได้

รวมถึงการลดของเสีย ของเหลือทิ้ง หรือการสร้างขยะพิษที่ทำลายได้ยาก และยังรวมไปถึง การบริการให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้ว สามารถนำมาให้บริษัทรับซ่อมสินค้าเพื่อให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิมไม่ต้องทิ้งไป การนำสินค้าเก่ามาปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้นำไปใช้ต่อได้หรือให้ลูกค้ารายอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ในราคายุติธรรม

2.กลยุทธ์การคืนกำไรให้กับสังคมและสนับสนุนช่วยเหลือสังคม จัดรายการขายสินค้าที่จะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปช่วยเหลือสังคม การทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม

การรับพนักงานที่มีบ้านหรือที่พักอาศัยใกล้เคียงกับสถานประกอบการ จ้างงานผู้พิการหรือผู้สูงวัย ให้นักเรียนหรือเยาวชนมาฝึกงานช่วงปิดเทอม หรือทำกิจกรรมที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.กลยุทธ์การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส เช่น การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีราคายุติธรรม การแสดงราคาขายอย่างเปิดเผย การไม่โฆษณาสินค้าเกินจริง การให้คำเตือนและการแจ้งวิธีใช้สินค้าอย่างถูกต้อง หรือการให้คำแนะนำการกำจัดหรือทิ้งสินค้าที่หมดอายุแล้วอย่างปลอดภัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การสร้างธุรกิจให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจในอนาคต

ผู้ที่ปรับตัวไม่ได้หรือปรับตัวไม่ทัน ย่อมจะนำความเสี่ยงในระดับต่างๆ เข้ามาสู่ธุรกิจอย่างไม่ทันคิด และไม่ทันตั้งตัว!!??!!