เปิดไอเดีย '10 เอสเอ็มอี' เบื้องหลังเส้นทางความสำเร็จ 'ธุรกิจยุคดิจิทัล'
เจาะเส้นทางความสำเร็จ ผ่าน "10 เอสเอ็มอี" ที่จะมาเผยกลยุทธ์และไอเดีย รวมไปถึงการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจให้มีความแตกต่าง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล
ผลสำรวจของ HP ชี้ 87% ของ SME เชื่อว่า Smart Technology สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคดิจิทัล ธุรกิจยุคใหม่ หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ซึ่งนอกจากทักษะความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุน เส้นทางความสำเร็จยังต้องมี "ไอเดียและกลยุทธ์" รวมถึง "การเลือกใช้เครื่องมือ...ที่ใช่" ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีจุดต่าง สามารถอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างต้องเร็ว ง่าย ยืดหยุ่นมากพอ และที่สำคัญตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและความยั่งยืน
เรื่องนี้สอดคล้องไปกับผลสำรวจ โดย "เอชพี" ที่พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กในไทยมองว่า เทคโนโลยีสำคัญมากต่อความสำเร็จ โดยเทคโนโลยีที่ฉลาดกว่า ใช้งานง่ายกว่าและปลอดภัย เป็นกุญแจสำคัญที่จะมาช่วยบรรเทาความท้าทาย ทว่าธุรกิจจำนวนมากยังรู้สึกไม่มั่นใจที่จะนำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีถึง 70% ที่ยังคงไม่ไว้วางใจถึงความซับซ้อนของเทรนด์เทคโนโลยีและภัยด้าน Cyber Security ที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ
ดังนั้น เอชพีจึงมุ่งมั่นสร้างเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด เสริมศักยภาพธุรกิจทุกรุ่นและทุกขนาดให้เติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้แนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีจะต้องไม่สร้างความซับซ้อนและน่ากลัว แต่ต้องมีประสิทธิภาพ ราบรื่น ปลอดภัย และต้องมีความยั่งยืนด้วย
Kiss Me Doll
พสิษฐ์ รัตน์จารุพงศ์ เจ้าของ Kiss Me Doll แบรนด์ผ้าพันคอสุดเก๋ กล่าวว่า จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญที่สุด ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบและวางลายผ้า ที่ผ่านมาใช้แท็บเล็ตในการทำงาน ทั้งวาดแบบ Draft อีกทั้งยังมีพรินเตอร์ที่มีบทบาทสำคัญ เมื่อต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงสัดส่วนของลายผ้าและสีสันเมื่ออยู่บนกระดาษว่าตรงตามสิ่งที่ต้องการหรือไม่ และที่ขาดไม่ได้คือความพยายาม ทุ่มเท ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
Chaksarn
จิรวัฒน์ มหาสาร เจ้าของแบรนด์ Chaksarn (จักสาน) กระเป๋าเสื่อกกทอมือ กล่าวว่า ความสำเร็จไม่ได้วัดด้วยยอดเงินหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มันคือความสุขที่เราได้รับจากการได้ทำธุรกิจ การได้รับรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันได้ช่วยเหลือชุมชน กระจายรายได้ให้ชาวบ้าน รวมถึงช่วยอนุรักษ์งานหัตถกรรมท้องถิ่นของไทย และต้องคงอยู่ในแบบที่ปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ และนำมาซึ่งความยั่งยืน ซึ่งการทำธุรกิจยุคใหม่ต้องมีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญด้วย
Petzila
ภัทรา ภวานุวงศ์ เจ้าของแบรนด์ Petzila (เพ็ทซิล่า) บริการด้านสัตว์เลี้ยงครบวงจร กล่าวว่า หัวใจหลักของการทำธุรกิจคือการคัดกรองทีมงานคุณภาพ มีทักษะการอาบน้ำตัดขนที่ถูกต้องได้มาตรฐาน รักสัตว์ ใจเย็น ดูแลใส่ใจเหมือนเป็นสุนัขและแมวของตนเอง รวมทั้งรู้จักใช้เทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหลังบ้าน อย่างการใช้พรินเตอร์ในการจัดทำเอกสารทางด้านบัญชี สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการโปรโมตร้าน คอนเทนต์ เก็บข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การตลาด รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องคาดเดาและนำปรับปรุงบริการของธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น
Zleep Sleep
จารุวรรณ เลิศสินธุ์ภักดี เจ้าของแบรนด์ Zleep Sleep (สลีพสลีพ) เครื่องนอนขนห่านเทียม เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น กล่าวว่า เบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากความดื้อรั้นและไม่ยอมแพ้ อาจจะใช้คำว่าความมุ่งมั่น แต่นั่นไม่เพียงพอ เพราะหากอยู่ในยุคที่การแข่งขันสูง จำเป็นต้องทุ่มเทและซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและคู่ค้า ที่ขาดไม่ได้คือธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีมาช่วยสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจด้วย
About Longan
ภรณ์ชุดา เรือนแล้ว เจ้าของแบรนด์ About Longan ร้านขนมหวาน "ข้าวเหนียวเปียกลำไย" กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของเรามาจากสินค้าที่มีคุณภาพ การเล่าเรื่องที่ดี ที่สำคัญมีความตั้งใจที่จะส่งมอบสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งโลกยุคใหม่เปลี่ยนเร็ว เราจึงต้องปรับตัวให้ไว ตามกระแสให้ทัน มีตัวตนในจุดที่ลูกค้าอยู่ เพราะถ้าพลาดอาจเสียโอกาสได้ ดังนั้นต้องไม่ยอมแพ้ และเป้าหมายต้องชัดเจน ในส่วนของแบรนด์เรา นอกจากการขายออนไลน์ด้วยการพรีออเดอร์จากเพจของร้านที่มีสัดส่วนกว่า 80% ยังเปิดรับงานอีเวนต์ ด้านการตลาดเน้นบนช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รีวิว และการบอกต่อ โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนทำยอดขายได้หลัก 1 แสนบาท
บ้านถั่วลิสง
อารีย์ เพ็ชรรัตน์ เจ้าของแบรนด์บ้านถั่วลิสง ธุรกิจแปรรูปถั่วลิสงครบวงจรใน จ.น่าน กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จและกลยุทธ์ที่จะทำให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนประกอบไปด้วย 1. แนวคิดที่ไม่โฟกัสเพียงเรื่องของกำไร หรือเงิน การเติบโตต้องอยู่ภายใต้การแบ่งปัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2. พัฒนาให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกส่วนเติบโตไปพร้อมกัน และ 3. รักษาสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจยุคใหม่ต้องมีการปรับตัวโดยให้ความสำคัญในการใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมาใช้ในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อแบ่งเบาภาระ ลดความผิดพลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs รายเล็ก
Pakamian
ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของแบรนด์ Pakamian (พาคาเมี่ยน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและของพรีเมียมจากผ้าขาวม้า กล่าวว่า การทำธุรกิจยุคดิจิทัล การสื่อสารกับลูกค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้านความสำเร็จมาจากสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม รวมถึงช่องทางที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวกมากที่สุด จากประสบการณ์ในธุรกิจนี้ราว 6 ปี ได้เรียนรู้ว่าการสร้างความอยู่รอดต้องรู้จักที่จะปรับตัว พร้อมรองรับกับทุกสถานการณ์ ขณะเดียวกันมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สำหรับการเริ่มต้นหากไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมาก ควรเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ไม่เจ็บตัวมากจะดีที่สุด
Organic Garden
ศิริลักษณ์ เข็มศิริ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Organic Garden (ออร์แกนิค การ์เด้น) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ อัปเดตถึงเส้นทางธุรกิจที่เดินทางมากว่า 8 ปีว่า ปัจจัยความสำเร็จหลักๆ เกิดจากการเข้ามาในตลาดในจังหวะที่ดีที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่ง อีกทางหนึ่งมีการสื่อสารการตลาดและสร้างประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะบนช่องทางออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งยังมีการจัดเวิร์กช็อปและเทรนนิง เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของสินค้า มากกว่านั้นมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI Chatbot มาช่วยเสริมด้านการสื่อสารและคอนเทนต์ด้วย และการทำธุรกิจของเราไม่ได้คาดหวังเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงผลกระทบเชิงบวกที่จะมีต่อสังคม ชุมชน สนับสนุนสินค้าที่มาจากในประเทศไทยด้วย
WASOO
กรรจิต นาถไตรภพ เจ้าของแบรนด์ WASOO (วาสุ) ผลิตภัณฑ์สำหรับงานตกแต่งภายในจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กล่าวว่า การสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจต้องรู้จักมองหาไอเดียรอบๆ ตัวและนำไปต่อยอด เช่นที่วาสุเอง นอกจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ยังมองหาแนวทางที่จะนำวัสดุจากการเกษตรอื่นๆ มาปรับใช้ พัฒนาเป็นของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังสร้างจุดแข็งด้วยการสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็น "Zero Waste" รวมไปถึงลดการเผา หรือลดการปล่อยคาร์บอนจากการเผา ตลอดจนการนำเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยในเรื่องของการสื่อสาร การพัฒนาคอนเทนต์ และงานหลังบ้าน
Niran
อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ เจ้าของแบรนด์ Niran (นิรันดร์) พวงหรีดรักษ์โลก กล่าวว่า แนวคิดการทำธุรกิจไม่ได้มองแค่เรื่องของการหารายได้หรือกำไรอย่างเดียว ต้องทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ซึ่งการพาธุรกิจให้อยู่รอด ต้องมีความสามารถในการปรับตัวและต้องทำให้ได้เร็วที่สุด แม้เป็นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านต้นทุน ทว่าอีกทางหนึ่งมีข้อดีด้านความยืดหยุ่นที่จะทดลอง ปรับเปลี่ยน และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังนำเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยในด้านการตลาด สร้างคอนเทนต์ โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร
สามารถเข้าไปดูสินค้าและตัวช่วยในการทำธุรกิจได้ที่ Lazada และ Shopee