‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่ มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่  มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

10 ปี เป็นระยะเวลาของ "แพนเอเซียฟุตแวร์" อยู่ในสภาวะแลนด์ดิ้ง หลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง เมื่อรองเท้ายี่ห้อดัง "ไนกี้" ย้ายฐานผลิตไปจีนและเวียดนาม หลังไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสมัยนั้น ทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ปัจจุบันฐานนิ่ง พร้อมวิ่งมุ่งเติบโตอีกครั้ง

หากจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของ “แพนเอเซียฟุตแวร์” ของ "เครือสหพัฒน์" ต้องยกให้เป็นบริษัทไทย “รายแรก” ที่ผลิตรองเท้าให้แบรนด์ระดับโลกอย่าง “ไนกี้”(NIKE) สร้างการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่

ทว่า จุดเปลี่ยนเกิดเมื่อประเทศไทยมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซ้ำเติมสถานการณ์ “ต้นทุน” การผลิต ท้ายที่สุดการรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มแบรนด์ “ไนกี้” ต้องยุติลงในปี 25556

ตลอดเวลาสิบปี “แพนเอเซียฟุตแวร์” มีการปรับโครงสร้างมากมาย ปรับพอร์ตโฟลิโอการรับจ้างผลิต สร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเอง รวมถึงบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มี สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กร

‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่  มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

สมมาต ขุนเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า ยุคเฟื่องฟูของบริษัทคือการผลิตรองเท้าไนกี้ และทำเงินมหาศาลระดับ 5 พันล้านบาท การจ้างงานของบริษัทและบริษัทลูกรวมกันมากถึง 1.5 หมื่นคน ทว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ผลิตรองเท้าย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน บริษัทต้องปรับไซส์องค์กรมีการลดพนักงานเหลือ 2-3 พันคน รายได้ลดลง และเผชิญภาวะขาดทุน

ทว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้เป็นการ “ฟื้นตัวครั้งใหญ่” หลังวางรากฐานธุรกิจนิ่ง และลุยคืนชีพอุตสาหกรรมรองเท้าครั้งใหม่ ด้วยการให้น้ำหนักในการสร้างแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “แพน” ซึ่งทำตลาดมา 46 ปี มีทั้งรองเท้า เสื้อผ้า รวมถึงสร้างแบรนด์ “DAYBREAK” เจาะกลุ่มเป้าหมาย

“ตอนนี้แพนฯ กำลังฟื้นตัวใหม่ หลังจากเราดาวน์ไซส์ธุรกิจสิบกว่าปี หลังจากไนกี้ออกไป ขณะนี้รากฐานธุรกิจนิ่ง เราต้องวิ่งแล้ว โดยจะให้ความสำคัญกับแบรนด์แพน ที่ตอนนี้ขายได้เดือนละแสนคู่ ทำรายได้ 40-50 ล้านบาทต่อเดือน และ DAYBREAK เป็นตัวชูโรง”

สำหรับการทำตลาดรองเท้า สินค้าอื่นๆภายใต้แบรนด์ “แพน” จะเห็นการรุกตลาดรองเท้านักเรียนรอบใหม่ทั้งแพน และพีเอส.จูเนียร์ รวมถึงการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อโฆษณานอกบ้าน โซเชียลมีเดีย และออนไลน์ต่างๆ เพราะหากปล่อยให้แบรนด์เงียบหาย จะถูก “คู่แข่ง” กลบ กลืนกินการรับรู้(Brand Awareness) และส่วนแบ่งตลาดได้

‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่  มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

ส่วนรองเท้า DAYBREAK จะชูจุดเด่นรองเท้ารักษ์โลก ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยใช้วัสถุพลาสติกชีวภาพ(Polylactic Acid) รวมถึงวัสดุจากข้าวโพดมาใช้ในกระบวนการผลิต ช่วยให้ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ นอกจากสินค้าดังกล่าวจะทำตลาดในประเทศ ยังมองโอกาสตลาดต่างประเทศด้วย

อีกด้านบริษัทยังคงเดินหน้า "รับจ้างผลิต" ให้กับแบรนด์อื่น ซึ่งปัจจุบันเปิดกว้างรับทั้ง “รายเล็ก กลาง ใหญ่” จากอดีตจะเน้นเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งพอร์ตโฟลิโอดังกล่าวยังเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างรายได้สัดส่วนถึง 80% มีลูกค้าทั้งในและนอกเครือ เช่น ลาคอสต์ และการขายรองเท้าแบรนด์อื่นๆ เช่น FLIPFLOP, PAN และ BEMOLO ฯ โดยอนาคตสัดส่วนรายได้ของแบรนด์บริษัทต้องเพิ่มขึ้น

‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่  มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

“เมื่อก่อนการรับจ้างผลิตเราเน้นผู้ประกอบการรายใหญ่ ตอนนี้รายเล็ก กลาง เรารับหมด สำหรับผู้ที่อยากเป็นเถ้าแก่ มีแบรนด์รองเท้าเป็นของตัวเอง ซึ่งบางรายจ้างผลิตเริ่มต้นเดือนละ 100 คู่ ปัจจุบันเติบโตผลิต 2 หมื่นคู่ต่อเดือนแล้ว ปีนี้เราต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ 5-6 ราย รับแบรนด์ใหม่เพิ่ม โจทย์เราคือจากลูกค้าไม่มีอะไรเลย จะทำให้ครบทั้งดีไซน์ ออกแบบ ทำรองเท้าตัวอย่าง ผลิตรองเท้าคุณภาพดีเพื่อให้ลูกค้าขายได้คล่อง สร้างการเติบโตแบบ win-win ทั้งคู่”

ท่ามกลางการฟื้นฟูธุรกิจ บริษัทยังมีการใช้พื้นที่ที่มีกว่า 100 ไร่ เพื่อปลูกผักออร์แกนิกแบรนด์ “ดับเบิ้ลยูบี ออร์แกนิค ฟาร์ม”(WB ORGANIC Farm)เพื่อจำหน่ายสร้างยอดขายหลายสิบล้านบาทด้วย

‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ เทกออฟครั้งใหม่  มุ่งทะยานรายได้สู่ 5 พันล้านบาท

จากแผนดังกล่าว บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% แต่ต้องการผลักดันการโตให้มากกว่านั้น เพื่อกลับไปแข็งแกร่งทำเงิน 5,000 ล้านบาทอีกครั้ง จากปี 2566 รายได้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท

“เราอยากเติบโตแบบก้าวกระโดด ใน 5 ปี มีความคล่องตัวและรายได้กลับไประดับ 5,000 ล้านบาท ระยะเวลานั้นอาจนานไป หากได้ลูกค้าที่สร้างจุดเปลี่ยน อาจทำให้สปีดการโตได้ ท่ามกลางปัจจัยลบ มองการทำธุรกิจปีนี้ ไม่เหนื่อย..ถ้าเราคิดว่าเหนื่อย ก็จะเหนื่อย แง่ของธุรกิจจะคำนึงเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ บางรายเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายเติบโต เป็นโอกาส ปีนี้จึงบอกทีมงาน วิกฤติต้องเป็นโอกาสของบริษัทด้วย แม้กำลังซื้อผู้บริโภคจะลดลงก็ตาม แต่ต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ยังมีกำลังซื้อ ใช้จ่ายให้เจอ”

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 บริษัทมีรายได้กว่า 486 ล้านบาท ลดลง 18.35% เพราะเป็นโลว์ซีซัน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 11.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 456.92%

“กำไรเราไม่ถึงกับสูงมาก เพราะเราแลนด์ดิ้งมานาน เพิ่งกลับมาเทกออฟใหม่ ในแง่ต้นทุนเรายังมีอยู่ สิ่งที่ต้องทำคือลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และหาทางเพิ่มยอดขายตลอดเวลา เพื่อให้เราเติบโตทั้งรายได้และกำไร”