‘ไทยเบฟ’ ขายหุ้น ‘เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้’ เกมทิ้งห่างคู่แข่ง F&B ในอาเซียน

‘ไทยเบฟ’ ขายหุ้น ‘เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้’ เกมทิ้งห่างคู่แข่ง F&B ในอาเซียน

เจาะลึกปฏิบัติการ "ไทยเบฟ" แลกหุ้น ทิ้งอสังหาฯ ถือหุ้นธุรกิจเครื่องดื่มเพิ่มในเอฟแอนด์เอ็น ต่อจิ๊กซอว์สำคัญย้ำภาพยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และอาหาร ทิ้งห่าง "คู่แข่ง" บิ๊กๆใน ท็อป 5 ของอาเซียน

ความเคลื่อนไหวสำคัญของยักษ์ธุรกิจน้ำเมา “ไทยเบฟเวอเรจ” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ในการจะขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (Frasers Property) ในสิงคโปร์ ให้กับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (TCC Assets) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ภายใต้อาณาจักรของ “เจ้าสัวเจริญ” เช่นกัน

แลกหุ้น แค่วนอยู่ในธุรกิจ “เจ้าสัวเจริญ”

โดยข้อตกลงการแลกหุ้น(สวอป)กับทีซีซี แอสเซ็ทส์ จะทำให้ “ไทยเบฟ” เพิ่มการถือครองหุ้นในบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น (Fraser & Neave - F&N) ซึ่งเป็นบริษัทอาหาร และเครื่องดื่มในสิงคโปร์

ทั้งนี้ หุ้นจำนวน 28.78% ที่ไทยเบฟถือครองในบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้นั้น จะลดลงเหลือศูนย์หลังเสร็จสิ้นการทำธุรกรรม ส่วนหุ้นที่บริษัททีซีซีถือครองอยู่ในเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 86.89% จากปัจจุบันที่ระดับ 58.1% และหุ้นที่ไทยเบฟถืออยู่ในเอฟแอนด์เอ็นจะเพิ่มขึ้นเป็น 69.61% จากปัจจุบันที่ระดับ 28.31%

การขายหุ้นดังกล่าว เป็นภาพที่ธุรกิจ “ไทยเบฟ” ซึ่ง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ทายาทของ “เจ้าสัวเจริญ” ขายหุ้นให้ธุรกิจของ “พ่อ” ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ เป็นทายาทคนเล็กอย่าง “ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนอยู่

ไทยเบฟ มุ่งจุดยืน เบอร์ 1 บิ๊กเครื่องดื่มและอาหารอาเซียน

ธุรกิจหลักของ "ไทยเบฟ" คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร ดังนั้น การแลกหุ้นครั้งนี้ ไทยเบฟ เป็นเพียงกลยุทธ์การตอกย้ำจุดแข็งของ “เบอร์ 1” ผู้เล่นในตลาดเครื่องดื่ม และอาหารระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นฐานทัพสำคัญของอาณาจักร “แสนล้านบาท” ใน 3 ด้าน ได้แก่

1.สร้างความสามารถใหม่ๆ ในการเข้าถึงธุรกิจ “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” และ “ผลิตภัณฑ์นม”(Dairy) ซึ่งมีการเติบโตสูง รวมถึงเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันด้วย ซึ่งทั้งนี้ ไทยเบฟได้ “คาดการณ์” การเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมใน 4 ตลาดสำคัญอาเซียนตั้งแต่ปี 2567-2572 เป็นดังนี้

ประเทศไทย

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 6.21%

ผลิตภัณฑ์นมเติบโต 6.03%

ประเทศเวียดนาม

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 10.52%

ผลิตภัณฑ์นม เติบโต 8.82%

ประเทศมาเลเซีย

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 5.96%

ผลิตภัณฑ์นม เติบโต 5.67%

ประเทศสิงคโปร์

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 5.07%

ผลิตภัณฑ์นม เติบโต 4.99%

สำหรับจิ๊กซอว์สำคัญที่จะผลักดันการเติบโต คือ การมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่ง ทั้งฮันเดรดพลัส F&N ICE MOUNTAIN(น้ำโซดา) F&N Nutri soy(นมถั่วเหลือง) ทีพอท(TEAPOT) เป็นต้น และยังมีบิ๊กโปรเจกต์ “AgriValley” ที่มาเลเซียเนื้อที่ 2,726 เฮกตาร์ สำหรับเลี้ยงโคนม 2 หมื่นตัว เพื่อผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 200 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งจะมีการรีดนมวัวได้ในปี 2568

เกมทิ้งห่างยอดขาย “คู่แข่ง” ท็อป 5

2.เสริมแกร่งการเป็น "อันดับ 1"  ท้าชนยักษ์เครื่องดื่ม และอาหารในอาเซียน ซึ่งหากดู “รายได้” ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 จะพบว่า ไทยเบฟ มีรายได้ 2.78 แสนล้านบาท ตามด้วยซานมิเกลฯ(ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารของฟิลิปปินส์) 2.47 แสนล้านบาท อินโดฟู้ด CBP(ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นม ของอินโดนีเซีย) 1.57 แสนล้านบาท มาซาน กรุ๊ป(ธุรกิจอาหารเวียดนาม และค่ายสิงห์ ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ เข้าไปถือหุ้น) 1.14 แสนล้านบาท และ Universal Robina(ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร ฟิลิปปินส์) 1.04 แสนล้านบาท และเอฟแอนด์เอ็น(ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นม สิงคโปร์) 5.72 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภายหลังการแลกหุ้น “ไทยเบฟ” จะกลายเป็นบริษัทที่มีรายได้นำโด่งกว่า 3.35 แสนล้านบาท และภาพธุรกิจจะมีทั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และธุรกิจอาหาร เป็น 4 เสาหลัก

นอกจากนี้ หลังการแลกหุ้น จะเห็นสัดส่วนของ “ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” และ “อาหาร” เพิ่มเป็น 26.5% จาก 14.2% และเห็นสัดส่วนของตลาดแต่ละพื้นที่ชัดเจนขึ้น จากปัจจุบันแบ่งเพียงไทย และเวียดนาม โดยไทยทำรายได้ 71.6% เวียดนาม 21.2% และอื่นๆ 7.2% แต่หลังแลกหุ้นจะเป็นตลาดไทย 64.8% เวียดนาม 17.6% อื่นๆ 7.5% มาเลเซีย 6.7% และสิงคโปร์ 3.4%

3.การปลดล็อกศักยภาพของบริษัท ที่เป็นผู้เล่นในตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม เพื่อให้นักลงทุนประเมินราคาหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อกำไรของหุ้น(Re-Rating)

ไทยเบฟจะแกร่งการเงินยิ่งขึ้น

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ ผู้บริหารสูงสุดการเงิน และการบัญชีกลุ่มของไทยเบฟ กล่าวว่า เป้าหมายของข้อเสนอการแลกหุ้นคือ การเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำที่มั่นคง และยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน และตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหารอย่างแท้จริง ด้วยการถอนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟ และตราสินค้าเครื่องดื่ม และอาหารของ F&N ในการขยายความสามารถในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกันด้านการดำเนินงาน และทำให้ไทยเบฟมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นโดยมีกำไรสุทธิจากประมาณการวงหน้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ที่ดีขึ้น

ย้ำประโยชน์จากการทำธุรกรรม

อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยเบฟในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เมื่อพิจารณาตามรายได้)

โดยไทยเบฟจะไม่มีการถือครองหุ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป นอกจากนี้ไทยเบฟจะสามารถควบคุม และบริหารจัดการ F&N อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ไทยเบฟสามารถขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้ การบริหารต้นทุน และการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การลดต้นทุนด้านการจัดซื้อ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงนวัฒกรรมผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ไทยเบฟจะยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น ผ่านกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ F&N ที่แข็งแกร่งในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ (Isotonic) และผลิตภัณฑ์นม นอกจากนี้ไทยเบฟจะยังสามารถเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่านความเป็นผู้นำตลาดของ F&N อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บนพื้นฐานการคาดการณ์ล่วงหน้า สำหรับ 12 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 การรวมกิจการนี้จะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 4.3% จาก 1.06 บาท เป็น 1.10 บาท

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์