โดนวิจารณ์แง่ลบ ยอดขายตก ถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด ทำ ‘ไนกี้’ สู่ยุคตกต่ำ ?

โดนวิจารณ์แง่ลบ ยอดขายตก ถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด ทำ ‘ไนกี้’ สู่ยุคตกต่ำ ?

ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของแบรนด์กีฬา และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้ “ไนกี้” ยักษ์ใหญ่วงการกีฬาเผชิญปัญหายอดขายตก แถมยังเจอกระแสวิจารณ์แง่ลบ และถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากแบรนด์อื่นๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “Nike” หรือ “ไนกี้” เป็นแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมาหลายทศวรรษ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของดีไซน์ และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะ “รองเท้า” แต่ล่าสุดเมื่อตลาดเริ่มเปลี่ยนไป และมีผู้เล่นเข้ามาเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น On (ออน) หรือ Hoka (โฮก้า) รวมถึงคู่แข่งที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน “Adidas” หรือ อาดิดาส ที่กำลังวางแผนกลับมาเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดอีกครั้ง

ทางไนกี้มองว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันบรรดานักวิจารณ์ก็มองว่านั่นเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กรภายใต้การนำของ “จอห์น โดนาโฮ” ซีอีโอคนปัจจุบัน

ข้อมูลจาก eviemagazine ระบุว่า จอห์นอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดพลาดมากมายของไนกี้ และอาจจะกำลังขัดขวางความสามารถของแบรนด์ในการฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำทางการเงินในปัจจุบัน

นอกจากนี้นักวิจารณ์ยังมองว่าการพึ่งพาแคมเปญทางการตลาดมากเกินไป ทำให้จิตวิญญาณของแบรนด์ตามสโลแกนอย่าง “Just Do It” เริ่มหายไป แต่บางคนที่อยู่ในแวดวงแฟชั่นกีฬาก็พอทราบกันมาบ้างแล้วว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์เริ่มมีปัญหาก็คือการนำนักกีฬาที่มีภาพลักษณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายชัดเจนมาขึ้นแคมเปญโปรโมตแบรนด์ในปี 2018 ทำให้ลูกค้าฝั่งอนุรักษนิยมให้ความสนใจแบรนด์น้อยลง ต่างจากแบรนด์อื่นที่วางตัวค่อนข้างเป็นกลาง จึงไม่ได้รับผลกระทบทางการเมืองมากนัก

ที่สำคัญทุกวันนี้มีแบรนด์กีฬาที่มีรองเท้าเป็นสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากมายจนทำให้เกิดการแย่ง “ส่วนแบ่งการตลาด” ซึ่งไนกี้เองก็เริ่มวางแผนที่จะกลับมาต่อสู้ในตลาดนี้อีกครั้งโดยการเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่ละทิ้งความคิดสร้างสรรค์ แต่กลายเป็นว่าบางคนก็ยังมองว่า “ไม่สร้างสรรค์มากพอ

ด้านข้อมูลจาก Financial Times พบว่ากรรมการผู้จัดการของ TD Cowen (ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน) “จอห์น เคอร์แนน” เคยเขียนในบันทึกถึงลูกค้าเอาไว้ว่า “ไนกี้เปิดรับกระแสแฟชั่นระดับกลางมากเกินไป ทำให้ถูกแบรนด์ระดับพรีเมียม เช่น Hoka, On, Lululemon และแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ดึงดูดผู้บริโภค”

จากปัญหาที่ยกตัวอย่างมานั้นส่งผลให้ในวันที่ 28 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา หุ้นของไนกี้ร่วงลงถึง 20% ส่วนหนึ่งมาจากรายงานยอดขายรายไตรมาสที่แย่กว่าที่คาดไว้ และยังมีการประเมินมูลค่าตลาดของบริษัทด้วยว่าอาจหายไปประมาณ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่ารายรับจะลดลงอีก 6% ท่ามกลางความต้องการที่ชะลอตัวของผู้บริโภค ในทางกลับกันแม้ยอดขายของไนกี้จะตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดแต่หุ้นร้านค้าปลีกสินค้ากีฬาแบบมัลติแบรนด์ เช่น JD Sports และ Foot Locker เพิ่มขึ้นแม้จะได้รับผลกระทบด้วยเล็กน้อยก็ตาม

แมทธิว เฟรนด์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของไนกี้กล่าวกับนักวิเคราะห์ในการประชุมทางโทรศัพท์ว่า “การกลับมาอีกครั้งในระดับนี้ต้องใช้เวลา และบริษัทกำลังดำเนินการเชิงรุกเพื่อจัดระเบียบสินค้าคงคลังใหม่ในร้านค้าที่ไนกี้เป็นเจ้าของและในช่องทางออนไลน์” การปรับปรุงครั้งนี้ก็มาจากเหตุผลเดิมที่ว่าความต้องการสินค้าไลฟ์สไตล์ชะลอตัวลง

ด้านข้อมูลจาก BBC ระบุว่า ไนกี้เคยเปิดเผยกับนักลงทุนว่าบริษัทกับเผชิญกับความต้องการที่ลดลงในต่างประเทศ โดยเฉพาะใน “จีน” ที่ลูกค้าแทบจะไม่เดินเข้าหน้าร้านด้วยซ้ำ แต่ทางไนกี้เองก็ยังมองในแง่ดีกว่าสินค้า และแคมเปญใหม่ๆ ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก 2024 อาจช่วยให้ผู้บริโภคหันกลับมาสนใจแบรนด์มากขึ้น

นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับลดแนวโน้มในปีงบประมาณ 2025 ลงด้วย โดยระบุว่าธุรกิจที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงลดลง 8% เนื่องจากลูกค้าบางรายหันไปหาแบรนด์ที่ทันสมัยมากขึ้น

หนึ่งในคนที่ออกมาวิจารณ์ถึงสถานการณ์ของไนกี้ในช่วงนี้ก็คือ “นีล ซอนเดอร์ส” กรรมการผู้จัดการของ GlobalData Retail ที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “มีความรู้สึกว่าไนกี้ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากพอ ไม่ได้ทำการตลาดมากพอ และไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากพอที่จะสร้างความน่าสนใจ” เขายังได้กล่าวเสริมอีกว่า ไนกี้จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้าอีกครั้งในแง่ของการโน้มน้าวใจผู้คนให้ซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์

ทาง “อาร์ต โฮแกน” หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของ B Riley แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ผ่าน aljazeera ว่า “ไนกี้อยู่ในจุดที่พวกเขาต้องการใช้แนวทางที่อนุรักษนิยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่พวกเขาตั้งมาตรฐานไว้ค่อนข้างต่ำสำหรับตัวเอง เพราะหวังว่าจะเป็นมาตรฐานที่พวกเขาสามารถเอาชนะได้”

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนก.พ. ทางไนกี้ก็ได้เริ่มลดค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือแนวโน้มยอดขายที่ลดลงในปีนี้ ท่ามกลางการแข่งขันในวงการที่ดุเดือดขึ้นด้วยการ “เลิกจ้างพนักงาน” ทั่วโลกมากถึง 2% หรือมากกว่า 1,600 คน

อ่านข่าว : 'ไนกี้' เลย์ออฟ 1,600 คนทั่วโลก รัดเข็มขัดรับแนวโน้มยอดขายลดลง

ทั้งนี้ จอห์น โดนาโฮ ก็ยังมีแผนรับมือให้กับแบรนด์ โดยในปีนี้ “ไนกี้” จะเปิดตัวรองเท้ารุ่น Air Max และ Pegasus 41 ที่มาพร้อมโฟมพื้นรองเท้าชั้นกลางแบบเต็มความยาวเท้าที่ทำจาก ReactX เพื่อเพิ่มความยั่งยืน แต่ก็ยังต้องจับตาต่อว่าหลังจากนี้แผนฟื้นฟูต่างๆ รวมไปถึงแคมเปญใหม่ของไนกี้จะช่วยทำให้แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่รายนี้จะฟื้นกลับมาได้ท่ามกลางการแข่งขันที่มีผู้เล่นหลากรายหรือไม่

อ้างอิงข้อมูล : aljazeera, BBC, Financial Times และ eviemagazine

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์