โรงแรม 40% รายได้ต่ำกว่ายุคก่อนโควิด ทัวริสต์อ่อนไหวราคา ฟื้นตัวกลางปี 68

โรงแรม 40% รายได้ต่ำกว่ายุคก่อนโควิด ทัวริสต์อ่อนไหวราคา ฟื้นตัวกลางปี 68

ธุรกิจโรงแรม เผชิญแรงกดดันปัจจัยลบกระทบผลตอบแทน ผู้ประกอบการกว่า 40% รายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เหตุ “นักท่องเที่ยว” อ่อนไหวต่อการปรับราคา ชี้การแข่งขันสูง ปรับราคาห้องพักยาก โรงแรมไม่เกิน 3 ดาว 20% ยอดจองห้องพักลดลง

KEY

POINTS

  • ธุรกิจโรงแรม เผชิญแรงกดดันปัจจัยลบกระทบผลตอบแทน ผู้ประกอบการกว่า 40% รายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
  • เหตุ “นักท่องเที่ยว” อ่อนไหวต่อการปรับราคา ชี้การแข่งขันสูง ปรับราคาห้องพักยาก โรงแรมไม่เกิน 3 ดาว 20% ยอดจองห้องพักลดลง
  • “ทีเอชเอ” ชงรัฐหนุนมาตรการกระตุ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวไทย-ระหว่างประเทศ ขยายวีซ่าฟรีต่อเนื่อง

ผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม” เดือน ส.ค. 2567 จัดทำโดย สมาคมโรงแรมไทย (THA) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-30 ส.ค. จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 106 แห่ง โดยได้สอบถามประเด็นพิเศษ เกี่ยวกับคาดการณ์ช่วงเวลาที่รายได้รวมของ “ธุรกิจโรงแรม” จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พบว่าโรงแรมกว่า 60% มีรายได้รวมสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และตั้งอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า  สำหรับโรงแรมที่มีรายได้สูงกว่าหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ทั้งระดับไม่เกิน 3 ดาวและระดับ 4 ดาวขึ้นไป มาจากการปรับราคาห้องพักให้สูงขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงห้องพักและการให้บริการที่ดีขึ้น และมีลูกค้ากับยอดจองห้องพักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเน้นทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขาย

ขณะที่โรงแรมอีก 40% ยังมีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาได้ในไตรมาส 2 ปี 2568 นอกจากนี้มีธุรกิจโรงแรมอีก 7% ประเมินว่ารายได้จะไม่สามารถกลับสู่ระดับเดิมได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว

“โรงแรมที่มีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนใหญ่เป็นผลจากลูกค้ามีความอ่อนไหวต่อการปรับราคา และการแข่งขันสูง จึงทำให้ปรับราคาห้องพักได้ยาก นอกจากนี้โรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวประมาณ 20% ยังเผชิญกับสถานการณ์ลูกค้าและยอดจองห้องพักที่ลดลง”

ประเมินอัตราเข้าพักเดือน ก.ย. ลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ระบุถึงคาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศไทยในเดือน ก.ย. น่าจะอยู่ที่ 50% ลดลงจากเดือน ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่าเดือน ส.ค. ภาคกลางมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด 71.5% เพิ่มขึ้นจาก 67.8% ของเดือนก่อน รองลงมาคือภาคตะวันออก มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 65.5% เพิ่มขึ้นจาก 58.8% ส่วนภาคใต้ 61.2% เพิ่มขึ้นจาก 57.3% ขณะที่ภาคเหนือ 50% เพิ่มขึ้นจาก 42.4% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36.1% ลดลงจาก 44.4%

สำหรับ “ราคาห้องพัก” เฉลี่ยต่อวัน พบว่าในเดือน ส.ค. โรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวส่วนใหญ่มีราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่น้อยกว่า 1,500 บาท ขณะที่ราว 50% ของโรงแรมระดับ 4 ดาวมีราคาห้องพักเฉลี่ย 1,500-2,499 บาท สำหรับโรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไป กว่า 40% มีราคาห้องพักเฉลี่ยสูงกว่า 5,000 บาท ทั้งนี้ หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่าโรงแรมในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนใหญ่มีราคาห้องพักเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่โรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 40% มีราคาห้องพักต่ำกว่า 1,000 บาท

 

โรงแรมกว่า 40% ขาดแคลนแรงงาน

“สถานการณ์ท่องเที่ยวในเดือน ส.ค. มีการขยายตัวต่อเนื่อง เป็นผลจากกลยุทธ์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดี ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ปัจจัยที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวได้รับความเชื่อมั่นจากมาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa-Free)”

ด้านมิติ “การจ้างงาน” ในเดือน ส.ค. พบว่าภาพรวมโรงแรมที่เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยโรงแรมกว่า 40% ยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบความสามารถในการรองรับลูกค้า ทั้งนี้โรงแรมในภาคกลางมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าภาคอื่น

 

ชงชะลอจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาชะลอการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” (ค่าเหยียบแผ่นดิน) ออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปีนับจากนี้ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาโตเต็มที่ ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” อย่างชัดเจนด้วย ว่าจะนำเงินค่าเหยียบแผ่นดินที่จัดเก็บส่งเข้ากองทุนฯ ไปใช้พัฒนาด้านใดบ้าง รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนิน “มาตรการ Visa-Free” แก่ตลาดเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมาคมฯ มั่นใจว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้าง (Man-made Destinations) สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จะสามารถกระจายเม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น

“สิ่งสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างระบบด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินทาง สามารถเข้าถึงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ได้ง่ายขึ้น จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีเพิ่มความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวตลอดระยะเวลาที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย” นายกทีเอชเอกล่าว