Sonic Branding ศิลปะแห่งเสียงเพิ่มพลังแบรนด์

Sonic Branding ศิลปะแห่งเสียงเพิ่มพลังแบรนด์

สวัสดีครับคุณผู้อ่านและติดตามที่สนใจและเชื่อว่า ธุรกิจจะแข็งแรงได้ต้องสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง ก่อนจะเข้าเนื้อหาผมก็อยากย้ำอีกทีครับว่า แบรนด์ไม่ใช่แค่โลโก้หรือภาพลักษณ์

และการสร้างแบรนด์คือการสร้างสินทรัพย์ที่สำคัญที่เรียกว่า Intangible asset ที่นับวันสินทรัพย์นี้จะมีมูลค่าอย่างมหาศาล และเมื่อแบรนด์แข็งแรงจะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มากขึ้นตามไปด้วย

วันนี้ประเทศไทยต้องก้าวผ่านจากที่เป็นเพียงผู้ผลิตไปเป็นประเทศที่ส่งออกแบรนด์ไปทั่วโลก หรือผลักดันให้เกิด Global brand ให้มากขึ้น เศรษฐกิจประเทศไทยจึงไปต่อและเติบโตได้ 

สำหรับในตอนนี้ อยากจะนำเรื่องใกล้ตัวที่เรามักมองข้ามในการสร้างแบรนด์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เพิ่มความมีชีวิตชีวาหรือพลังให้กับแบรนด์เป็นอย่างมาก ศิลปะที่ว่านี้เราเรียกว่า Sonic Branding 

Sonic Branding คือการใช้ศิลปะหรือสุนทรีย์จากเสียงหรือดนตรี เพื่อสร้างและสื่อสารเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านเสียงที่เฉพาะเจาะจง เสียงนี้อาจเป็นเสียงจดจำที่ใช้ในโฆษณา, การใช้สินค้า, การรอคิวโทรศัพท์หรือการแนะนำสินค้าและบริการ Sonic Branding ช่วยสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ ทำให้แบรนด์นั้นเป็นมีชีวิตชีวาจดจำได้ง่ายและสร้างคุณค่าแบรนด์ได้เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนของ Sonic Branding คือเสียง jingles หรือ sonic logos เช่น เสียง “Intel Inside” หรือเสียงเปิดตัวภาพยนตร์ของ 20th Century Fox เสียงเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคจำแบรนด์หรือองค์กรได้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และผู้บริโภคจะเตรียมพร้อมจะได้รับประสบการณ์ที่เชื่อมโยงคุณค่าจากแบรนด์

ทำไมแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมักมีการใช้ Sonic Branding มาเป็นเครื่องมือ

1.การจดจำแบรนด์ (Brand Recall) ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงหรือดนตรีที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์

2.การสร้างอารมณ์ (Emotional experience) เสียงหรือดนตรีสามารถสร้างอารมณ์และความรู้สึก ทำให้ผู้บริโภคมีความผูกพันกับแบรนด์ และสามารถเชื่อมโยงคุณค่าแบรนด์ไปเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกขึ้นกับแบรนด์นั้นๆ อย่างรวกเร็วมากยิ่งขึ้น

3.สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ศิลปะแห่งเสียงและดนตรี ช่วยให้การสร้างความเป็นเอกลักษณ์แบรนด์ มีความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน

Sonic Branding จึงกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตลาดยุคปัจจุบัน เนื่องจากเสียงสามารถสร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสื่อเข้าถึงจิตใต้สำนึกของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีศึกษาตัวอย่างที่ดีของ Sonic Branding

1.Intel เสียง “Intel Inside” หรือที่รู้จักกันว่า Intel Bong เสียงนี้ถูกใช้ในโฆษณาและสื่อต่างๆ ของ Intel มานานหลายปี ทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำแบรนด์ได้ทันทีแม้ไม่ได้เห็นโลโก้หรือภาพใดๆ

2.McDonald's เสียง “I'm Lovin’ It” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีชื่อเสียง ซึ่งใช้ในแคมเปญโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุทั่วโลก เสียงดนตรีสั้นๆ ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “I'm Lovin’ It” ช่วยสร้างความจดจำให้กับผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย

3.Netflix เสียง “ta-dum” ที่ใช้เมื่อเปิดแอป Netflix หรือเมื่อเริ่มการสตรีม เป็นเสียงที่มีเอกลักษณ์และเชื่อมโยงกับแบรนด์ Netflix ทำให้ผู้ใช้รู้สึกตื่นเต้นและพร้อมที่จะรับชมคอนเทนต์ใหม่ให้ประสบการณ์ว่า คืนนี้คุณจะไม่นอนและตื่นเต้นไปกับคอนเทนต์ของเรา

4.Apple เสียงแจ้งเตือนหรือเสียงการเปิดเครื่องของ Apple เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงการใช้เสียงในการสร้างแบรนด์ เสียงเหล่านี้มักจะสื่อถึงคุณภาพและความหรูหรา ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ Apple ทำให้ประสบการณ์การใช้งานของทุกๆ ผลิตภัณฑ์จาก Apple มีสุนทรียภาพที่แตกต่างจากคู่แข่ง

5.Coca-Cola ในโฆษณามักใช้เสียงเปิดขวดน้ำอัดลมและเสียงฟู่ของฟองน้ำ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ของแบรนด์ Coca-Cola ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย และสร้างประสบการณ์ที่เป็นเครื่องดื่มที่ดับกระหายได้เป็นอย่างดี

6.Line เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ได้อย่างชัดเจน เสียงแจ้งเตือนที่มีลักษณะเฉพาะของ Line เมื่อมีข้อความหรือการแจ้งเตือนใหม่เข้ามา เสียงนี้ถูกออกแบบให้เรียบง่ายแต่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถจำได้ทันทีว่าเป็นข้อความจาก Line

องค์ประกอบที่สำคัญของ Sonic Branding ของ Line

- เสียงแจ้งเตือน (Notification sound): เป็นเสียงสั้นๆ แต่มีจังหวะที่จำง่ายและน่าจดจำ เสียงนี้ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ใช้และมีความเชื่อมโยงกับการใช้งานแอปพลิเคชัน Line

- เสียงเมื่อสิ้นสุดการโทร เสียงเฉพาะที่ใช้เมื่อผู้ใช้สิ้นสุดการโทรด้วย Line นี่คืออีกหนึ่งลักษณะของ Sonic Branding ที่ช่วยสร้างความผูกพันกับผู้ใช้

- เสียงสติกเกอร์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการสนทนาผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้ใช้ในการสื่อสาร นอกจากนี้ในบางโอกาส Line ยังสร้างเสียงพิเศษสำหรับแคมเปญต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับธีมหรือเทศกาล

ตัวอย่างจากกรณีศึกษาเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง “พลังของเสียง” ที่สามารถทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภคได้อย่างมีเอกลักษณ์ จึงอยากเห็นแบรนด์ไทยสามารถนำกลยุทธ์ Sonic branding ไปปรับใช้เพื่อเพิ่มการจดจำ, เอกลักษณ์และชีวิตชีวา อันนำไปสู่การสร้างพลังแบรนด์ได้มากขึ้นต่อไปได้