'งบโฆษณาดิจิทัล' โตแรง 16% เกินเป้า 8% 'สกินแคร์ ยานยนต์ นอนแอลฯ' เปย์มากสุด!
โตไม่แผ่ว! สำหรับงบโฆษณาดิจิทัล ต้นปีสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)เคาะตัวเลขทั้งปีอาจโตแค่ 1 หลักที่ 8% เกินครึ่งทาง เข้าโค้งท้ายปี เม็ดเงินสะพัดกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท และเติบโตถึง 16% โดย 3 หมวดสายเปย์คือ สกินแคร์ ยานยนต์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ "ค้าปลีกแซงขึ้นท็อป 5"
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) จับมือ คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยการตลาด และที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ชั้นนำของโลก เผยผลสำรวจการคาดการณ์มูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยของปี 2567 ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเงินลงทุนตัวเลขจริงของครึ่งปีแรก 2567 และตัวเลขคาดการณ์ของครึ่งปีหลัง 2567 โดยเจาะลึก 66 ประเภทอุตสาหกรรม และ 18 ประเภทสื่อดิจิทัล ด้วยความร่วมมือจาก 33 บริษัทเอเยนซีชั้นนำ
สำหรับเม็ดเงินลงทุนโฆษณาดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 แตะจำนวนเงิน 33,859 ล้านบาท และเป็นอีกปีที่มีอัตราการเติบโตที่ เลข 2 หลักหรือ Double digit
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนมาจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ ส่งสัญญาณที่ดีให้แก่เม็ดเงินลงทุนโฆษณาในปี 2567 ให้เติบโตมากจนถึง 33,859 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตถึง 16% จากปี 2566 และถือเป็นตัวเลขที่ “เติบโตสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้จะโต 8%”
ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนในสื่อโฆษณาดิจิทัล 5 อันแรก มีการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มที่มีจำนวนเม็ดเงินลงทุนมากสุด คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 5,047 ล้านบาท ถือเป็น “แชมป์เปย์งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 2 ปีซ้อน” รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 3,898 ล้านบาท ที่เดิมเป็นเจ้าบุญทุ่มมากสุดติดต่อกันมาหลายปี
อันดับ 3 คือ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,844 ล้านบาท อันดับ 4 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม 2,053 ล้านบาท และอันดับ 5 กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 1,641 ล้านบาท ที่ “แซงติดท็อป 5” แทนกลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม หล่นไปอยู่อันดับ 6
เมื่อจำแนกการลงทุนตามช่องทางการลงโฆษณาบนสื่อดิจิทัล พบว่า การลงเม็ดเงินโฆษณาในช่องทางเริ่มกระจายไปช่องทางต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคชาวไทยที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้ว่า เมตา (เฟซบุ๊คและอินสตาแกรม) ยังคงเป็นช่องทางที่นักการตลาดเลือกลงทุนโฆษณามากที่สุดครองเม็ดเงิน 9,305 ล้านบาท สัดส่วน 27% ตามด้วยยูทูป 4,619 ล้านบาท สัดส่วน 14% และติ๊กต็อก(TikTok) 3,647 ล้านบาท สัดส่วน 11% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ที่ครองเม็ดเงินสัดส่วน 7% เท่านั้น
“แนวโน้มการเติบโตของแพลตฟอร์มหลักๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบยังมีต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจคือ ออนไลน์วิดีโอ ติ๊กต็อก มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น รวมถึงการเสิร์ช(search) ไลน์(LINE) และอีคอมเมิร์ซ ที่นักการตลาดให้ความสำคัญมากขึ้น”
ภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า DAAT มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติวงการโฆษณาและการตลาดไทยในยุคดิจิทัลเพื่อให้นักการตลาด และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน รายงาน DAAT Spending Report นี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของเราในการสร้างแนวทางข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น
“DAAT และคันทาร์ ดำเนินการสำรวจ และจัดทำรายงานนี้มาตั้งแต่ปี 2556 และในปีนี้เราได้รับความร่วมมือจาก 33 เอเยนซีสมาชิกชั้นนำในการรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม โดยตัวเลขการเติบโตที่ 16% ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่างบประมาณโฆษณาบนสื่อดิจิทัลในปีนี้อยู่ที่ 33,859 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และความสำคัญของตลาดโฆษณาบนสื่อดิจิทัลของประเทศไทยที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”
ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้า และประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี 2567 จะเห็นอัตราการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเป็นเลขสองหลัก เนื่องด้วยมาจากการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจนของกลุ่มที่มีเงินลงทุนสูงสุด เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่เติบโต 40% ในปี 2566 และยังคงขยายตัวต่อเนื่องถึง 46% จากการคาดการณ์ในปี 2567 เป็นผลมาจากการแข่งขัน และการขยับตัวของแบรนด์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถไฟฟ้า ในขณะที่ผู้เล่นรายปัจจุบันพยายามจะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าเอาไว้ ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตถึง 30% ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่เติบโต 24%
“จะเห็นว่า การเติบโตของช่องทางอีคอมเมิร์ซยังส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเติบโต ด้วยผู้บริโภคในทุกวันนี้ใช้ทั้งช่องทางออนไลน์ และหน้าร้านเพื่อหาข้อมูล และตัดสินใจซื้อ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องทำการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยประสานทั้งช่องทางดิจิทัล และช่องทางการซื้อขายปกติแบบไร้รอยต่อ”
นอกเหนือจากนี้พฤติกรรมของคนไทยได้มีส่วนช่วยให้เม็ดเงินลงทุนโฆษณาดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว เหตุด้วยคนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต คนไทยเปิดกว้างต่อแอป และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการสื่อสารทางออนไลน์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยรวมแล้ว อนาคตของการโฆษณาดิจิทัลจึงดูสดใสต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์