50% ของคนกรุงเทพฯ รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ต้องจ่ายค่าเดินทางเฉียด 5 พันบาท/เดือน!

50% ของคนกรุงเทพฯ รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ต้องจ่ายค่าเดินทางเฉียด 5 พันบาท/เดือน!

ซื้อบ้านในเมืองเป็นได้แค่ฝัน! “SENA” ชี้ ครึ่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ มีรายได้ต่ำกว่า “30,000 บาท” สวนทางราคาบ้านในเมืองโตพุ่งทุกวัน แพงเกินเอื้อม-ต่ำ 3 ล้านแทบไม่มี วันๆ หมดไปกับค่าเดินทางเฉียด 5,000 บาทต่อเดือน

หลังจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารเข้มงวดมากขึ้น พบว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านสูงกว่า 70% โดยเฉพาะกลุ่ม “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ที่มีคนรายได้ปานกลางเป็นกลุ่มเป้าหมาย แม้จะอยากมีบ้านมากแค่ไหนก็ครอบครองไม่ได้ ทำให้กำลังซื้อแผ่วไปโดยปริยาย 

เรื่องนี้ “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดอสังหาฯ เกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน “หนี้ครัวเรือน” คือหนึ่งในแกนกลางของปัญหา คนอยากมีบ้านก็ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสวนทางรายได้ที่ไม่เติบโตตาม ทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านลดลง 

หัวเรือใหญ่บ้านเสนาฯ หรือ “ดร.ยุ้ย” ชี้ว่า ขณะนี้เกิดความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างดีมานด์ของคนอยากซื้อบ้าน และฝั่งซัพพลายผู้พัฒนาโครงการที่ตั้งราคาสูงเกินความต้องการ โดยพบว่า รายได้ของประชาชนเกินกว่า 50% เพียงพอต่อการซื้อบ้านในราคา “ต่ำ 3 ล้าน” เท่านั้น ขณะที่โครงการบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ มีราคาเกิน 3 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการซื้อบ้านได้ยากกว่าที่เคย

50% ของคนกรุงเทพฯ รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ต้องจ่ายค่าเดินทางเฉียด 5 พันบาท/เดือน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน ซึ่งมีมากกว่า 50% ของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ คนกลุ่มนี้มีความสามารถในการซื้อบ้านราคาต่ำ 3 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่า รายได้ประชากรส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ โตไม่ทันกับราคาที่อยู่อาศัย “เสนาฯ” บอกว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่า 70% ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 15% เท่านั้น โดยราคาบ้านที่สูงขึ้นมีสาเหตุจากราคาที่ดิน และต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาที่อยู่อาศัยจึงเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้ไม่ได้โตด้วยอัตราเร่งเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อบ้านสักหลัง “เสนาฯ” เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ โดยระบุว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หากดูกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 87% ของเงินเดือน ซึ่งในจำนวน 87% นี้ เป็นค่าเดินทางไปแล้ว 16% คิดง่ายๆ ก็คือค่าเดินทางเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้สูงเฉียดๆ 5,000 บาท/เดือนเลยทีเดียว

ปัจจัยนี้ยึดโยงกับการตัดสินใจซื้อบ้านอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความย้อนแย้งก็เกิดขึ้นเมื่อราคาบ้านในเมืองสูงเกินไป คนอยากมีบ้านต้องมองหาที่อยู่รอบๆ ชานเมือง ซึ่งก็มาพร้อมกับต้นทุนค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น ราคาที่อยู่อาศัยที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่ราคาบ้านที่เราซื้อ แต่ยังต้องคำนึงถึงค่าเดินทางในแต่ละวันด้วย

50% ของคนกรุงเทพฯ รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ต้องจ่ายค่าเดินทางเฉียด 5 พันบาท/เดือน! -ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)-

ยอดปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้นเช่นนี้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มหันไปมองการเช่ามากกว่าซื้อขาด ด้วยความไม่พร้อมทางการเงิน รวมถึงความมั่นคงของการทำงาน มองว่า การเช่าดูจะปลอดภัยมากกว่าหากเทียบกับการผ่อนที่ยาวนานถึง 30 ปี ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงการซื้อบ้านได้ช้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ ราคาบ้านโตเร็วกว่ารายได้ ความต้องการซื้อบ้านก็เริ่มลดลงไปด้วย สอดคล้องกับยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ