กองทัพคนทุกข์ในยุค Digital วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2565 (3)
บทเรียนจาก "วิกฤติเศรษฐกิจ" ปี 2540 ทำให้ไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Economic Structure) และโครงสร้างระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก
การจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ( BIBF) ในปี 2536 ทำให้สถาบันการเงินและภาคเอกชนไทยมีเสรีในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จึงมีการกู้เงินไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ภาคเอกชนเร่งขยายกิจการจนเกินตัว ก่อนปี 2540 ธุรกิจหลายแห่งกู้ยืมเกินตัว (Over leverage) ทำให้ปี 2540 ธุรกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) สูงถึง 5 เท่า ทำให้เกิดวิกฤติสามมิติ วิกฤติค่าเงิน วิกฤติหนี้สิน และวิกฤติเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินจนนำไปสู่วิกฤติสถาบันการเงิน เมื่อค่าเงินบาทถูกโจมตีในปี 2540 ธปท. ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทอ่อนตัวจาก 25 บาท เป็น 56 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้สถาบันการเงินและเอกชนที่กู้เงินจากต่างประเทศมีหนี้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จนเกินความสามารถที่จะชำระหนี้ได้
วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ทั้งบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์ จนทำให้เกิดวิกฤติการณ์ของทั้งระบบสถาบันการเงินที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินไทย ภาระความเสียหายสุทธิมีมูลค่ารวมกันถึง 1.4 ล้านล้านบาทคิดเป็น 28% ของ GDP ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจาก การให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินเจ้าหนี้ และการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ให้กับ 56 สถาบันการเงินและสถาบันการเงินอื่นจำนวน 554,149 ล้านบาท การขาดทุนจากการถือหุ้นในสถาบันการเงินที่เข้าแทรกแซง จำนวน 169,139 ล้านบาท การขาดทุนจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 650,750 ล้านบาท
รัฐบาลได้ตรากฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินโดยออกเป็นพระราชกำหนด 2 ฉบับ ในปี 2541 และปี 2545 ออกพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงินวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท และ 780,000 ล้านบาท โดยกำหนดแหล่งเงินทุนและกลไกในการชำระคืนไว้อย่างชัดเจน ทั้งกำไรสุทธิที่ ธปท. นำส่งเป็นรายได้ในแต่ละปี เงินรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและดอกผลกองทุน
แนวนโยบายมหภาคที่ต้องทำตามใบสั่งของ IMF ทำให้หนี้เสียและหนี้สูญของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น สถาบันการเงินไม่กล้าขยายสินเชื่อ ทำให้ ธปท. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 12.5% เป็น 7.0% ต่อปี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นการลดดอกเบี้ยอย่าง
ฮวบฮาบถึง 5.5% ส่งผลกระทบถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rateOf interest) หลังหักภาษีดอกเบี้ยลดลงสู่ระดับใกล้เคียงกับศูนย์ ประชาชนผู้ฝากเงินและอาศัยรายได้จากดอกเบี้ยลำบากกันทั่วหน้า
แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดต่ำลงอย่างมากแต่สถาบันการเงินก็ยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินยังไม่คืนสู่สภาวการณ์ปกติ การปรับเปลี่ยนนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายขาดดุล การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเพิ่มอุปสงค์มวลรวม การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลถึงแม้จะล่าช้า แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว (Economic Recovery) โดย GDP เริ่มเป็นบวก ในปี 2542
บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Economic Structure)และโครงสร้างระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยมีทีมงานเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับมือจนสามารถชำระหนี้ IMF ได้ก่อนกำหนด แต่ในปี 2565 ปัญหาทางเศรษฐกิจมีความซับซ้อน มีความท้าทายใหม่ ๆ
ผลกระทบเกิดขึ้นกับคนยากจนที่อาจเป็นวิกฤติที่รุนแรงกว่าปี 2540 ถ้าไม่มีรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับมือ กองทัพคนทุกข์จะเต็มแผ่นดินแน่นอน…..