ส่องมาตรการ 4 เดือนสุดท้ายปี 65 อุ้มค่าไฟ-พลังงานกลุ่มเปราะบาง

ส่องมาตรการ 4 เดือนสุดท้ายปี 65 อุ้มค่าไฟ-พลังงานกลุ่มเปราะบาง

วิกฤติพลังงานยังดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหา ส่งผลกระทบกับราคาสินค้าอื่น ๆ ตามไปด้วย “กลุ่มเปราะบาง” ถือเป็นกลุ่มที่รับภาระหนักสุด ที่ผ่านมารัฐบาลออกมารตการเป็นระยะ และ 4 เดือนที่เหลือรัฐบาลจะยังคงมาตรการเดิมหรือไม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนโดยเฉพาะปัญหาวิกฤติพลังงาน โดยสั่งการให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ร่วมหามาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จากที่เคยช่วยเหลือด้านพลังงานตั้งแต่ช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19 จนขณะนี้ได้มีการขยายมาตรการออกมาเป็นระยะ และล่าสุดมาตรการช่วยเหลือเดือน ก.ค.-ก.ย.2565 ใกล้จะหมดอายุลง

ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาต่อไปเป็นระยะจนถึงเดือน ธ.ค.2565 ซึ่งปัญหาหลัก คือ กระทรวงการคลังจะใช้งบประมาณจากที่ใดตรง เพื่อมาเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง หรือว่าอะไรที่จะยุติลง ซึ่งสิ่งที่น่าหนักใจ คือ การรัฐบาลจะใช้งบประมาณดำเนินการ รวมทั้งหากต้องกู้เงินมากขึ้น จะต้องระวังการก่อหนี้สาธารณะและเป็นภาระทางการคลังในอนาคต

สำหรับมาตรการหลักที่เสนอจะเป็นมาตรการประหยัดพลังงาน ส่วนมาตรการช่วยเหลือจะเป็นกระทรวงการคลังจะพิจารณา โดยด้านเฉพาะเรื่องของงบประมาณ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 มีมาตรการดูแลประชาชนด้านพลังงานวงเงินกว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมากพอสมควร ดังนั้น กระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะมาตรการที่จะดูแลถึงเดือนเดือน ธ.ค.2565

ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงนี้ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลง แต่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีภาระติดลบ ณ วันที่ 7 ส.ค. 2565 ที่ 117,229 ล้านบาท อีกทั้ง ยังติดปัญหาแหล่งเงินกู้ ดังนั้น แม้ราคาน้ำมันลดลงแต่จะเห็นว่าราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการน้ำมันไม่ลดลงมากเท่าที่ควร ซึ่งแม้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีสถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่จะต้องพิจารณาว่าควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านใดเพิ่มเติม

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ถือว่าสำคัญ หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะลดมาตรการช่วยเหลือลง แต่สิ่งสำคัญที่กระทรวงพลังงานจะต้องเน้นย้ำคือ การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ส่วนในเรื่องของค่าไฟฟ้า คนที่กำหนดและมีหน้าที่ดูแลคือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในขณะที่มาตรการในเรื่องของเงินสนับสนุนจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง” แหล่งข่าว กล่าว

 

9 มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน

เพื่อบรรเทาภาระประชาชนระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. 2565 แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมัน ไฟฟ้า LPG และ NGV ประกอบด้วย  

1. อุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่เกิน 35 บาทต่อลิตร ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต

2. คงส่วนผสมไบโอดีเซล B5

3. ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมัน (ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า)

4. บรรเทาผลกระทบผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สาธารณะไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน รวม 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 2565) รวม 12.3 ล้านราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเพิ่มเติมมาตรการใด ๆ

5. ลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (พ.ค.-ส.ค.) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าเอฟทีที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย รวมจำนวน 18.81 ล้านราย

6. ทยอยปรับราคา LPG ขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยมีราคาเป้าหมาย 408 บาทต่อถัง 15 กก. (ราคาเดือนก.ค.อยู่ที่ 378 บาทต่อถัง 15 กก.) รวม 20 ล้านครัวเรือน

7. ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG กลุ่มหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมกว่า 80,000 ราย

8. ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคา LPG ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 4 ล้านราย

9. คงราคา NGV ที่ 13.62 บาทต่อกก. ให้กับแท็กซี่ภายใต้โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันและที่ 15.59 บาทต่อกก. สำหรับรถทั่วไป รวมกว่า 300,000 คัน

ทั้งนี้ ปัญหาหลักตอนนี้ที่นายกฯ เป็นห่วงคือ การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติปรับขึ้นค่า Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. –ส.ค. 2565) ที่เก็บอยู่  24.77 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่ประชาชนจ่ายอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างหารือเพื่อหาเงินต่อมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยลดผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง