2 ปี ขอขึ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'พาณิชย' เปิดทางแบบมีเงื่อนไข

2 ปี ขอขึ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  'พาณิชย' เปิดทางแบบมีเงื่อนไข

“พาณิชย์”เปิดทางขึ้นราคาบะหมี่ ตั้งเงื่อนไขต้นทุนลดต้องปรับลง ด้าน 5 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยื่นกรมการค้าภายใน ขอปรับขึ้นซองละ 2 บาท ชี้ต้นทุนแป้งลาสี-น้ำมันปาล์มสูงขึ้น อ้างขาดทุนจากการผลิต เผยผลดำเนินงานครึ่งปี “มาม่า” กำไรพันล้าน

ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท โดย World Instant Noodles Association (WINA) สรุปความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในปี 2564 ไว้ที่  3,630 ล้านหน่วยบริโภค มากเป็นอันดับ 9 ของโลก

ที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปัญหาต้นทุนการผลิต โดยผู้ผลิตในไทยมีต้นทุนหลักจากแป้งสาลีสัดส่วน 70% ซึ่งต้องนำเข้าและที่ผ่านมามีราคาปรับสูงขึ้นหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ.2565 ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดการส่งออก รวมทั้งมีต้นทุนจากน้ำมันปาล์ม สัดส่วน 20% และต้นทุนจากการผลิตเครื่องปรุงรส 10%

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ร้องขอต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอขึ้นราคาจากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตขึ้นราคา

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ 5 ราย ตั้งโต๊ะแถลงขอให้กรมการค้าภายในอนุญาตให้ขึ้นราคา เพราะต้นทุนหลักปรับสูงขึ้นทั้งแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม 

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 นำโดยนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า และนายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากผู้ผลิตอีก 3 ราย ด้วย

2 ปี ขอขึ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  \'พาณิชย\' เปิดทางแบบมีเงื่อนไข

“มาม่า”กำไรครึ่งปีพันล้าน

สำหรับผลดำเนินการของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บริษัท ซึ่งบางบริษัทมีผลดำเนินการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากราคาแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มสูงขึ้นแล้ว ดังนี้ 1.บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมาม่า มีผลดำเนินงานในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2565 (ม.ค.-30 มิ.ย.) รายได้รวม 13,014 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,164 ล้านบาท ส่วนปี 2564 รายได้รวม 25,095 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,574 ล้านบาท

2.บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตไวไว มีผลดำเนินงานปี 2564 รายได้รวม 6,797 ล้านบาท กำไรสุทธิ 306 ล้านบาท

3.บริษัท สหพัฒนพิบูลจำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่ซ่อสัตย์ มีผลดำเนินงานช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) รายได้รวม 8,496 ล้านบาท กำไรสุทธิ 376 ล้านบาท และปี 2564 รายได้รวม 34,057 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,745 ล้านบาท

4.บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่ยำยำ มีผลดำเนินงานปี 2564 รายได้รวม 5,077 ล้านบาท กำไรสุทธิ 267 ล้านบาท

5.บริษัทนิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่นิสชิน มีผลดำเนินงานปี 2564 รายได้รวม 1,615 ล้านบาท กำไรสุทธิ 197 ล้านบาท

เร่งรัฐพิจารณาขึ้นราคาเร็วที่สุด

นายพันธ์ กล่าวว่า ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องการให้กรมการค้าภายในเร่งรัดปรับขึ้นราคา และคาดหวังให้พิจารณาเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะหันไปส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออก 30-35% เพราะมีกำไรมากกว่า ขณะที่การขายภายในขาดทุน ยืนยันว่าขณะนี้กำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทเดินเครื่องผลิตเพียงแค่ 80% ของกำลังการผลิตเท่านั้น คงไม่มีปัญหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาดแคลน เพราะในช่วงปีที่น้ำท่วมใหญ่ ถนนขาด มาม่ายังสามารถผลิตและขนส่งไปจำหน่ายได้ มีกรณีเดียวที่จะทำให้บะหมี่ขาดแคลนคือ การกักตุนสินค้าของประชาชน กรณีนี้สินค้าไม่ได้ขาดแคลนดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อกักตุนให้ซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 

พาณิชย์ยอมรับต้นทุนสูงขึ้น

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้ติดตามต้นทุนวัตถุดิบการผลิตบะหมี่มาตลอด ซึ่งยอมรับว่าปัจจัยการผลิตหลายตัวปรับขึ้นราคา แต่ผู้ผลิตยังให้ความร่วมมือในการช่วยตรึงราคามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จึงต้องขอบคุณผู้ประกอบการ โดยกรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะติดตามดูแลราคาสินค้าในตลาดใกล้ชิด หากพบการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าขายแพงเกินจริง จะถูกดำเนินคดีมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท

ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปดูต้นทุนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ต้องพิจารณา ด้วยความรอบคอบ ดูว่าความสมดุลอยู่ตรงไหน ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ ผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบไม่มากเกินไป ตามหลักการวินวินโมเดล โดยจะพิจารณาเป็นรายสินค้า ทั้งนี้ยอมรับว่าตันทุน แป้งสาลี และพลังงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่าต้นทุนที่เพิ่มมีสาระสำคัญขนาดต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายหรือไม่"นายวัฒนศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีระบุว่าผู้ประกอบการยังมีกำไรจากการส่งออก ทำให้กรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคานั้นปัจจุบันมีกำไรจากการส่งออกไม่มากเพียง 5%เท่านั้น ส่วนการบริโภคภายในประเทศขณะนี้เริ่มปรับเพิ่มขึ้นเติบโต 3-5%

ชี้ขึ้นราคาได้ตามต้นทุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของขึ้นราคาจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท เป็นเรื่องที่มาม่าได้เคยปรับราคาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ครั้งหนึ่งจากซองละ 5 บาท เป็นซองละ 6 บาท เมื่อปี 2551 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และล่าสุดได้ขอปรับราคามาตั้งแต่ปีที่แล้วเกือบ 2 ปี แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาต

“เนื่องจากต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย แต่ตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว”

ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียวเพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า

“เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป โดยอธิบดีกรมการค้าภายในจะเป็นผู้พิจารณาและถ้าต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ถ้าต้นทุนปรับลดลงมาจะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย ให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ต้นทุนโดยใกล้ชิด ขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตที่เป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีและน้ำมันพืช”