ปศุสัตว์คาด ก.ย. ราคาไข่ไก่ลดตามกลไกตลาด

ปศุสัตว์คาด ก.ย. ราคาไข่ไก่ลดตามกลไกตลาด

กรมปศุสัตว์เผยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่เพื่อให้อยู่ได้ แม้ก่อนหน้านี้จะให้ผู้เลี้ยงปลดแม่ไก่ยืนกรงเร็วขึ้น และเพิ่มการส่งออกไข่ไก่ แต่ยืนยันไข่ไก่ไม่ขาดตลาด เพียงพอต่อการบริโภคแน่นอน

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่องโดยประชุมหารือกำหนดแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่กับผู้แทนผู้เลี้ยงไก่ไข่จาก 4 สมาคม 4 สหกรณ์ และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท เนื่องจากไข่ไก่ล้นตลาดตั้งแต่ในเดือนพฤษภาคม ทำให้ราคาตกลงมากสวนทางกับราคาอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คณะอนุกรรมกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) คำนวณว่าต้นทุนการผลิตไขไก่ในเดือนมิถุนายน ปรับขึ้นเป็นเฉลี่ยฟองละ 3.02 บาท กรมปศุสัตว์จึงดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ด้วยการขอความร่วมมือให้ปลดไก่ไข่ยืนกรงและเร็วขึ้นและเพิ่มปริมาณการส่งออกไข่ไก่ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม จนสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่สมดุลและราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับตัวสูงขึ้น

ไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหว ราคาปรับตามกลไกตลาด โดยคาดว่าในเดือนกันยายน – ตุลาคมของทุกปี มีเทศกาลกินเจและเป็นช่วงปิดภาคเรียน ประกอบกับฝนตกชุก อัตราการบริโภคไข่ไก่จะน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับลดลงตามไปด้วย

 

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตและการบริโภคไข่ไก่ใกล้เคียงจุดสมดุล โดยยังต้องการการปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสมและคงอัตราการส่งออกเพื่อเป็นกลไกในการปรับสมดุลปริมาณการผลิตไข่ไก่ให้สอดคล้องกับอัตราการบริโภคที่จะปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน-ตุลาคม ดังนี้

– ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกรายเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า30,000 ตัว ที่มิใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่

– ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงที่อายุ 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565

 

– ขอความร่วมมือผู้เลี้ยง PS 16 รายผลักดันการส่งออกไข่ไก่ โดยกำหนดเป้าหมายให้ในเดือนสิงหาคมส่งออก60 ตู้คอนเทนเนอร์ (19.5 ล้านฟอง) ต่อไปในเดือนกันยายน – ตุลาคมส่งออก 100 ตู้คอนเทนเนอร์ (32 ล้านฟอง) ต่อเดือน 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะเพื่อกำหนดมาตรการรักษาสมดุล Demand – Supply ให้เหมาะสม

สถานการณ์การเลี้ยงไก่ไข่และผลผลิตไข่ (Supply) พบว่า ปัจจุบันจำนวนไก่ไข่ยืนกรงมี 50.67 ล้านตัว ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ 42.05 ล้านฟองต่อวัน (ข้อมูลวันที่ 25 กรกฎาคม) ส่วนอัตราการบริโภค (Demand) เฉลี่ยประมาณ41.89 ล้านฟองต่อวัน โดยคาดการณ์อัตราบริโภคภายในประเทศปัจจุบันประมาณวันละ 41.50 ล้านฟอง ขณะที่ส่งออกเฉลี่ย 389,325 ฟองต่อวัน (ข้อมูลการออกใบรับรองสุขอนามัยวันที่ 1 – 10 สิงหาคม 2565) 

จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่า เดือนมกราคม – เมษายน อัตราการบริโภคไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคเลือกไข่ไก่ที่มีราคาถูกกว่าเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนจากเนื้อสุกรที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาการของผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลงทำให้การค้าภายในประเทศคล่องตัวมากขึ้น กระทั่งในเดือนพฤษภาคม ไข่ไก่เริ่มมีการสะสมในระบบมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาไข่ไก่ปรับลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้แก่ ราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม กรมปศุสัตว์จึงดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและราคาที่เกษตรกรจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น