เปิด 3 ภารกิจหลัก”ปลัดพาณิชย์ คนใหม่”กีรติ รัชโน”
ปลัดพาณิชย์คนใหม่ “กีรติ รัชโน” รับไม้ สานงานต่อ”บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร”ทั้งดูแลราคาสินค้า เดินหน้าผลักดันการส่งออกไทย สานต่อนโยบายประกันรายได้ปี 4 ด้านเอกชน ขานรับ“กีรติ” นั่งปลัดพาณิชย์ พร้อมฝากงานเจรจาการค้า เร่งทำเอฟทีเอ
เรียกได้ว่า หักปากกาเซียนไปเลย สำหรับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เมื่อ”กีรติ รัชโน” รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง”กีรติ รัชโน”เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ แทนนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2565 ตามที่นายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอ ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าว สร้างความฮือฮาให้กับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ อย่างยิ่ง เพราะไม่ได้อยู่ในแคนนิเดทที่หลายคนคาดหมายไว้
ว่าที่ปลัดพาณิชย์คนใหม่นี้ เกิดวันที่ 25 พ.ย.2510 เริ่มรับราชการที่กรมการค้าต่างประเทศ จากนั้นในปี 2553-54 เป็นผู้อำนวยการกองนโยบายการค้าและพัฒนาระบบบริหาร ปี 2554-56 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าข้อตกลง ปี 2556-59 เป็นผู้อำนวยการกองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป ปี 2559-61 เป็นรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ปี 2561 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปี 2562 เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และช่วงปลายปี 2564 เป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้นายกีรติยังผ่านการอบรม หลักสูตรนักบริหารระดับสูง : ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.) รุ่น 79 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) รุ่นที่ 11
“นายกีรติ รัชโน” เติบโตในชีวิตราชการในกระทรวงพาณิชย์ ผ่านงานสำคัญๆมาก็มาก โดยเฉพาะผลงานที่โดดเด่นเห็นจะเป็นเรื่องของการเร่งระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวปริมาณ 17-18ล้านตันให้หมดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว รวมถึงเดินหน้าเจรจาซื้อขายข้าวกับประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างๆจนสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้า
สำหรับโจทย์ที่ท้าทายสำหรับว่าที่ปลัดคนใหม่ แม้ว่า หลายเรื่องนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมภายใต้สังกัด แต่ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ หรือ ในฐานะ"แม่บ้าน"กระทรวง ที่มีอำนาจดูแลและสั่งการก็ต้องเข้าไปดูแล คงหนีไม่พ้น 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การควบคุมราคาสินค้า เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทรวงพาณิชย์ก็มีหน้าที่ดูแล โดยเฉพาะขณะนี้ผู้ประกอบการหลายรายที่”ฮี่ม””ขอปรับราคาสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดสำคัญเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน สินค้าควบคุมอื่นๆ เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบะหมี่สำเร็จรูป ที่เป็นเผือกร้อนของกระทรวงพาณิชย์อยู่ในขณะนี้
2.การเร่งรัดเจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือFTA กับคู่ค้าที่มีศักยภาพ ทั้งเอฟทีเอ ไทย-อียู เ อฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค)เอฟทีเอไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย ,เอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา เป็นต้น เพื่อเปิดตลาดใหม่ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเปิดเจรจามินิเอฟทีเอกับเมืองรอง เช่นมณฑทลไห่หนาน กานสู่ ฟู่เจี้ยน ซานตง อูฮั่น จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แขวงสะหวันนะเขตประเทศลาว เป็นต้น
3.เดินหน้านโยบายประกันรายได้ข้าวปี 4 ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ โดยที่ผ่านมา 3 ปี กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการนโยบายประกันรายได้เกษตรกรใน 5 สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง
ทั้ง 3 ภารกิจถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำและสานต่อ ที่สำคัญเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่”จุรินทร์ “ เป็นเจ้ากระทรวง นอกจากนี้ยังมีงานอื่นที่รอว่าที่ปลัดคนใหม่ขับเคลื่อนเพื่อพากระทรวงพาณิชย์เดินหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ มาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ
งานกระทรวงที่ยังคั่งค้างหรืองานตามนโยบาย เชื่อว่า ปลัดคนใหม่ จะบริหารงานได้ไม่ยากเย็นนัก ด้วยความรู้และมากด้วยประสบการณ์ อีกทั้งยังมี”ตัวช่วย”ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน และข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ก็จะทำให้งานของกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนได้
รวมทั้งภาคเอกชนที่พร้อมจะร่วมมือทำงานกับกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนจากความเห็นของรองประธานกรรมการหอการค้าไทย”นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา “และประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)”นายชัยชาญ เจริญสุข”ที่เห็นตรงกันว่า เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในทุกด้านเชี่ยวชาญทั้งงานด้านเจรจาการค้า ทั้งการค้าชายแดนผ่านแดน การขายข้าวระบายข้าว แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ การเร่งรัดการเจราการค้าเพื่อรับมือกับการค้าโลกที่เปลี่ยนไป
จากนี้ไปคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ “กีรติ รัชโน”เพราะจะทำงานอยู่ในตำแหน่งปลัดปลัดกระทรวงพาณิชย์ยาวไปถึง 2571 ก่อนเกษียณอายุ หากในระหว่างทางไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่ในหน่วยราชการอื่น เพราะในอนาคตไม่มีอะไรแน่นอน