“จุรินทร์”เข็นประกันรายได้ปี4 อุ้มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
“จุรินทร์”นั่งหัวโต๊ะประชุม กรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมติเดินหน้าประกันรายได้ข้าวโพดปี 4 เริ่มงวดแรก 20 พ.ย.65 พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์ข้าวโพด 3 ปี ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไป เพิ่มพื้นที่ปลูกปลูก พัฒนาคุณภาพข้าวโพดมาตรฐาน GAP
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 3/2565 ว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีที่ 4 ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดคงเดิมทุกประการ เช่นเดียวกับปีที่ 1-3 โดยจะเริ่มประกันรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65 - 30 เม.ย. 67 ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่เริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 66 งวดที่หนึ่งจะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่าง ถ้าราคาข้าวโพดต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาท ตามรายได้ที่ประกันเริ่มงวดแรกวันที่ 20 พ.ย. 65 เป็นต้นไปโดยได้เตรียมงบประมาณทั้งสิ้น 1,669.8 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 452,000 ราย
“ 3 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังสูงกว่าราคาประกันรายได้ ซึ่งราคาดีมาก โดยราคาข้าวโพดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 11.36 บาทต่อกก. ส่วนมาตรการ 3:1 เปิดให้นำเข้าข้าวสาลีได้พื่อลดปัญหาขาดวัตถุดิบในผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 ซึ่งก็จะกลับมาใช้มาตรการ3 :1 เหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน ซึ่งเป็นมาตรการเช่นเดียวกับ 3 ปีที่ผ่านมาคือ ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับสถาบันเกษตรกรและผู้รวบรวมข้าวโพดที่เก็บข้าวโพดไว้ไม่เร่งขายในช่วงที่ข้าวโพดออกมาก เพื่อป้องกันราคาข้าวโพดตกต่ำ จากนี้จะได้มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เป็นการปลูกในช่วงแล้ง เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพด ที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมากทำวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ เพราะความต้องการใช้ข้าวโพดในประเทศเฉลี่ยปีละ 7.98 ล้านตัน แต่ผลิตในฤดูกาลผลิตปกติได้แค่ 4.96 ล้านตัน ยังขาดอีกมาก จำเป็นต้องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปริมาณการผลิต 0.8 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะนำเข้าเพื่อมาชดเชย ซึ่งการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนหลายมาตรการ เช่น ให้ ธ.ก.สให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ โดยจ่ายดอกเบี้ย 3.5 % รัฐบาลจะช่วย 3 % จากปกติ 6.5 % ไร่ละไม่เกิน 4,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 60,000 บาท
พร้อมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเช่น ประกันความเสี่ยงกรณีเกิดภัยพิบัติข้าวโพดหลังนาหรือเกิดโรคพืช ซึ่งกรณีภัยพิบัติได้รับการชดเชย 1,500 บาทต่อไร่ โรคพืช 750 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลเป็นผู้ช่วยจ่ายเบี้ยประกันให้ทั้งหมด 172 บาทต่อไร่ แทนเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งระยะเวลาการปลูกข้าวโพดหลังนาเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 -15 ม.ค. 66 ใช้งบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 262 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี พ.ศ. 2565 -2567 เป็นเวลา 3 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน 1.เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตั้งเป้าหมายผลผลิตต่อไร่ ข้าวโพดในฤดูปกติให้เพิ่มผลผลิตจาก 800 กก.ต่อไร่ เป็น 1,104 กก.ต่อไร่ ส่วนข้าวโพดหลังนาหรือที่เรียกว่าข้าวโพดแล้ง ให้เพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 860 กก.ต่อไร่ เป็น 1,187 กก.ต่อไร่ ภายใน 3 ปี
2. เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับข้าวโพด จะเพิ่มพื้นที่รวมกันทั้งข้าวโพดฝนและข้าวโพดแล้งจากพื้นที่เดิม 801,900 ไร่ เป็น 1,106,622 ไร่ ภายใน 3 ปี
3.เร่งรัดดำเนินการปลูกหรือพัฒนาข้าวโพดคุณภาพที่ได้มาตรฐาน