“เอกชน”ห่วงสุญญากาศการเมืองฉุดเชื่อมั่นธุรกิจ-ฟื้นเศรษฐกิจสะดุด
“เอกชน” ชี้ ไม่กระทบเศรษฐกิจระยะสั้น ขอเร่งพิจารณาปม 8 ปี จบเร็วที่สุด ห่วงเกิดสุญญากาศการเมือง ฉุดความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ฟื้นเศรษฐกิจสะดุด "นักวิชาการ" มองเศรษฐกิจเดินต่อได้ งบประมาณปี 66 ผ่านแล้ว
ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 รับคำร้องวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย “ภาคเอกชนธุรกิจ” ต่างมองว่าระยะสั้นจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ หากห่วงในภาวะสูญญากาศอาจกระทบความเชื่อมั่น และการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเสร็จภายใน 1 เดือน เป็นการตัดสินเชิงนิติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้พักปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ซึ่งต้องรอผลตัดสินออกมาระยะถัดไป ซึ่งแม้นายกฯ จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การประชุม ครม.และการพิจารณาต่างๆ ของรัฐบาลยังเดินต่อได้
สำหรับช่วงนี้คงมองหลายแนวทางว่าจะออกมาในมุมไหน ทั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ หรือผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน หรือการยุบสภา ตามที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาลบ้าง แต่หลายเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งเรื่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเป็นเจ้าภาพ APEC ก็จัดได้ต่อไป
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป แต่อาจมีบางส่วนเข้าสู่มุมเรื่อง Wait & See เช่น การลงทุน เพื่อรอความชัดเจนบางส่วน สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชน มองตอนนี้ คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่น และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยใน 4 เดือนที่เหลือ และปี 2566 ซึ่งตอนนี้การท่องเที่ยวและการส่งออก กลับมาแล้ว ซึ่งผลวันนี้ที่ออกมาก็ไม่กระทบต่อทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเบื้องต้นภาคเอกชนมองกรอบการเติบโตปีนี้ อยู่ที่ 2.75-3.5% เหมือนเดิมอยู่
ห่วงกระตุ้นเศรษฐกิจสะดุด
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ระยะสั้นไม่น่ากระทบต่อภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกนั้นมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังโชคดีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ผ่านความเห็นชอบของสภาไปแล้ว ซึ่งทำให้งานประจำสามารถเดินไปต่อไปได้ แต่กังวลนโยบายมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจอาจหยุดชะงักในอนาคต รวมทั้งการเจรจาการค้า การขยายตลาด ก็ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะจะต้องได้รับการตัดสินใจจากรัฐบาล
ทั้งนี้ สรท.หวังว่าการพิจารณาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและสรุปได้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองนานจนเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของประเทศ จึงอยากให้มีข้อสรุปเรื่องนี้โดยเร็วเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากเกิดสุญญากาศทางการเมืองนานย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศแน่นอน รวมทั้งภาคการลงทุนในอนาคต
ห่วงความเชื่อมมั่นภาคธุรกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความเชื่อมั่นภาคเอกชนต่อประเด็นการเมือง ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ช่วยชะลอความตึงเครียดภาคการเมืองออกไปอีก 1 เดือน ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย รวมทั้งการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ยังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังหากศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัยว่านายกฯ ดำรงตำหน่งครบ 8 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยด้านการเมืองเป็นส่วนหนึ่งความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากการเมืองขาดเสถียรภาพก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะผลกระทบมากแค่ไหน ซึ่งเอกชนยังต้องจับตาดูสถานการณ์ในอีก 1 เดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิดว่าจะมีบทสรุปแบบไหน
ชุมนุมการเมืองผ่อนคลายลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ถือเป็นการดำเนินการตามครรลองกรอบกฎหมาย จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะรัฐบาลยังคงอยู่ ครม.ยังประชุมและบริหารประเทศได้
ขณะที่งบประมาณปี 25566 ก็ผ่านการพิจารณาไปแล้ว อีกทั้งภาคเศรษฐกิจหลักที่คอยขับเคลื่อนประเทศ ทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว หรือภาคการผลิต ยังเดินหน้าได้เป็นปกติ ที่สำคัญจะช่วยผ่อนคลายบรรยากาศของการชุมนุมทางการเมืองไปได้
“มองว่าเศรษฐกิจระยะสั้นคงไม่มีผลกระทบจากเรื่องนี้ ยกเว้นตลาดเงินตลาดทุน อาจมีการชะลอมองดูความชัดเจนบ้าง แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศ ยังมีโอกาสเติบโตได้ตามกรอบ 3-3.5% และการส่งออกไทยจะโตได้ 6-8%อย่างไรก็ตามอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวได้อยู่ เพื่อรอดูว่าหลังจากนี้ศาลจะพิจารณานายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ”
กัลฟ์มั่นใจนโยบายไม่เปลี่ยน
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า ปัจจัยกดดันจากประเด็นทางการเมืองในประเทศตอนนี้ มองว่าการเมืองของไทยเป็นเช่นนี้มาตลอด มีการเปลี่ยนรัฐบาลที่เข้ามาปกครอง แต่ส่วนมากนโยบายต่างๆ ยังดำเนินได้ต่อเนื่องเชื่อว่านโยบายเหล่านั้น จะยังไม่เปลี่ยนแปลงและนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติการเมืองแต่อย่างใดซึ่งเราผ่านมาหลายครั้งแล้ว
“ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศอย่างไรผมเชื่อว่า ทุกคนที่มาเป็นรัฐบาล พยายามทำให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทย มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้ภาระประชาชนเบาลง”
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนไทยในครึ่งปีหลัง 2565 นายสารัชถ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนไทยยังขยายตัวต่อไปได้
ตอนนี้ทุกคนกำลังปรับตัว กับสถานการณ์ ที่ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ขณะที่ความหวังใหม่ของเรา คือ ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไทย ยังปรับตัวดีขึ้นต่อไปการที่รัฐบาลเข้าไปเจรจาด้านพลังงาน มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ช่วงนี้เจรจาคงลำบาก เป็นตลาดของคนขาย เจรจาไปได้ของแพง รอวัฏจักรพลังงานกลับมาดีกว่า ทุกคนคงต้องช่วยประคองตัวไปก่อน รัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเต็มที่
“เอกชน”หวังเดินหน้าต่อได้
นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าภาคเอกชนค่อนข้างคุ้นชินกับสถานการณ์ต่างๆ “ไม่ได้กังวลว่าจะทำให้ธุรกิจไปได้หรือไม่ได้ เพราะคนอยากจะมูฟออนไปข้างหน้า”ได้แต่หวังว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยเท่าไร ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“สทท.ขอฝากความหวังของภาคท่องเที่ยวไทยแก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมาเป็นรักษาการนายกฯ ให้ช่วยสานต่อในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19”
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตอนนี้ได้เทคออฟไปแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคืองบประมาณโครงการ เราฟื้นด้วยกัน ภายใต้มาตรการ บูสเตอร์ช็อต (Booster Shot) หลังก่อนหน้านี้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอมาตรการ ABC ฟื้นฟูประเทศและพลิกโฉมการท่องเที่ยว หาก พล.อ.ประวิตร รักษาการนายกฯต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทาง สทท.และตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวก็พร้อมเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม