soft power หนุนอุตสาหกรรม "ภาพยนตร์ไทย" รุกด้วยเทศกาลและงานวิจัย
ยังคงติดตามความเคลื่อนไหว "อำนาจอ่อน" soft power เกี่ยวกับแวดวง "ภาพยนตร์ไทย" ซึ่งจะเกิดเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ต้องมีเรื่องของการ "นำเสนอ" การจัดเทศกาล และศึกษาเรียนรู้พร้อมต่อยอดด้วย "งานวิจัย"
วันก่อน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงานเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 6 KAEN FILM FESTIVAL KHONKAEN UNIVERSITY 2022 ที่จังหวัดขอนแก่น
การประชุม Consortium งานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) และอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย (Research proposal) มุ่งสนับสนุนการพัฒนากำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก
ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. , จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Frontier SHA/AI) และ รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาการวิจัยขั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่ออนาคต (Frontier Technology) เป็นวิทยากรร่วมในเวทีการอบรมครั้งนี้
- Soft Power ของไทยแบบไหน โดนใจติดอันดับโลก แล้วยังไงต่อ
-
คนไทยกับซอฟท์พาวเวอร์ และการสร้าง Thai Soft Power ในมุมมองใหม่
-
20 ข้อ soft power ภาพยนตร์ไทย ปมเข้าใจผิดๆ กรณีศึกษาจากเกาหลี-สหรัฐและจีน
การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ท่าน อาทิ คณาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับภาพยนตร์ อย่าง ธนิตย์ จิตนุกูล และดารานักแสดง อย่าง ไพโรจน์ สังวริบุตร รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในด้านการทำภาพยนตร์จากทางฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เช่น ลาวนิวเวฟ ลาวอาร์ตมีเดีย เป็นต้น
ดร.วรจิตต์ ในนาม บพค. นำเสนอถึงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) บทบาทของ บพค. เป้าหมายการพัฒนากำลังคน รวมทั้งยุทธศาสตร์ของ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566-2570 และแผนงานปีงบประมาณ 2566–2570 ของ บพค. โดยทาง บพค. เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านภาพยนตร์
กล่าวคือ ภาพยนตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ โดยได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนแบบ Gig Economy ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างแล้วจบไป ในประเทศไทย และแนวทางการสร้างงานวิจัย Frontier และการพัฒนากำลังคนของ บพค. SHA-SOFT POWER ที่อยู่ในระดับ International Collab Creative Content โดยมี Brainpower คือ National Platform กำลังคนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถผลักดันและพัฒนาไปในระดับ Globalized Creative Content ในอนาคตต่อไปได้ จากนั้น จตุรภรณ์ และ รศ.ดร.รินา ได้จัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้เข้าร่วมการอบรม เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย Research proposal เพื่อพัฒนา Consortium ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคตของประเทศไทยต่อไป (อ้างอิง - บพค. , 2565)
สำหรับผู้เขียนเอง เคยไปฟังร่วมงานเสวนารายงานหนึ่ง ภายใต้งานเทศกาลหนังเมืองแคน เมื่อหลายปีก่อน ช่วงยังไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คํา หัวเรือใหญ่แห่งเทศกาลหนังเมืองแคน ได้เดินหน้าประสานหน่วยงานรัฐและเอกชน มาร่วมงานจัดเวทีให้คนในวงการภาพยนตร์ เช่นผู้กำกับฯ ผู้อำนวยการสร้าง มาแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาและผู้สนใจได้มาร่วมกันทำชิ้นงานภาพยนตร์สั้นและสานเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์เต็มรูปแบบ โดยหวังว่า "ขอนแก่น" จะเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพในการพัฒนาภาพยนตร์ไทยอย่างยั่งยืนและเป็น soft power พัฒนาเมืองขอนแก่นทั้งด้านธุรกิจและท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน
เมื่อมี "เทศกาลภาพยนตร์" แล้ว การต่อยอดด้วย "งานวิจัย" การได้ บพค. เข้ามาร่วมด้วย จึงเกิดพลังมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ว่าต้องรอดูว่าจะเกิดและก่อผลงานด้านวิจัยอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนเองอยากไปร่วมฟังเสวนาและรายงานบรรยากาศงานคงได้อรรถรสยิ่ง แต่อาจเพราะปัจจัยต่าง ๆ อาจไม่เอื้ออำนวยความสะดวก
อย่างที่ทราบว่า ผู้เขียนรายงานความเคลื่อนไหว soft powerภาพยนตร์ไทย มาอย่างต่อเนื่อง เพียรหวังว่าจะเกิดเวที เทศกาลภาพยนตร์ อย่างต่อเนื่อง ในทั่วภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างพลังสนับสนุนให้เกิดคอนเทนต์อันสร้างสรรค์เกี่ยวเนื่องภาพยนตร์ไทย เกิดการพัฒนาเติบโตเป็น "อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์" เสริมฐานรากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศให้ยั่งยืน.