ส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น หลังทรุดมาตลอดจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น หลังทรุดมาตลอดจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทูตพาณิชย์ไทยในรัสเซีย เผยส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น ล่าสุด ก.ค. บวก 10.68% จากเดือนมิ.ย.65 แต่ยังลดลงสูงถึง 42.59% เทียบก.ค.64 แนวโน้มชะลอลง หลังสถานการณ์ขนส่งสินค้าดีขึ้น แต่มาตรการคว่ำบาตร ยังส่งผลกระทบรุนแรงอยู่

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกไทยไปรัสเซียว่า มูลค่าการส่งออกยังลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค.65 หลังรัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารกับยูเครนเมื่อปลายเดือนก.ย.65 โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปรัสเซียเดือนก.ค.65 อยู่ที่ 46.6 ล้านดอลลาร์ แม้เพิ่มขึ้น 10.68% จากเดือนมิ.ย.65 ที่มีมูลค่า 42.1 ล้านดอลลาร์ แต่ยังลดลง 42.59% จากเดือนก.ค.64 ส่วนในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 65 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 338.82 ล้านดอลลาร์ ลดลง 37.01% จากช่วงเดียวกันของปี 64   ทั้งนี้ ในเดือนก.ค.65 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย มีสัดส่วน 78.02% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปรัสเซีย มีอัตราขยายตัวลดลง 33.77% โดย รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยเป็นหมวดที่ครองสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุดอันดับ 1 มาโดยตลอด ตกไปอยู่อันดับที่ 7 ของเดือนนี้ และหด 88.84% โดยมีสินค้า รถยนต์นั่งกลับมายังตลาดรัสเซียอีกครั้งเป็นมูลค่า 2.1 ล้านดอลลาร์ และที่เหลือเป็นส่วนประกอบและ อุปกรณ์รถยนต์อีก 0.9 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น  

ส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น หลังทรุดมาตลอดจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน
 

ส่วนสินค้าจำนวน 7 ใน 10 อันดับแรก มีอัตราการขยายตัวในแดนบวก โดยมีเม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่เติบโตได้ในอัตราสูง 38.29%, 848.91%, 111.82% และ 383.87% ตามลำดับ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันสำเร็จรูป หดตัวลงที่36.88% และ 11.02% ตามลำดับ

สำหรับอุปสรรคสำคัญของการส่งออก ในช่วงนี้คือ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ ดังนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าแต่ละรายการในแต่ละเดือน จะมีความผันผวนสูง อาจมีสาเหตุจากจังหวะและรอบเที่ยวเรือขนส่งที่ผ่านเข้าไปยังรัสเซีย ยังไม่มีความแน่นอน  “นับจากวิกฤตยูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยไปยังรัสเซียในเดือนมี.ค.หดตัวลงอย่างรุนแรงถึง 73% ต่อเนื่องมาในเดือนเม.ย.ที่ติดลบ 77% เดือนพ.ค. ติดลบ 65% เดือนติดลบ 53% และเดือนก.ค. ติดลบ 43% ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราชะลอตัว ประเมินว่า มีสาเหตุมาจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของรัสเซียทุเลาลง เพราะมีสายการเดินเรือใหม่ๆ ในแถบเอเชียเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าเข้า-ออกรัสเซียมากขึ้น ทดแทนสายการเดินเรือหลักของยุโรปที่ถอนตัวออกไป”  
 

นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ที่ช่วยให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไม่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม สินค้าหลักทุกหมวดล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเข้าถึงเงินสกุลหลัก การขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญที่สุดคือระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ถูกจำกัดและขาดความแน่นอน  อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าไทยกับรัสเซียไม่มากนัก โดยที่ผ่านมาไทยพึ่งพาหมวดสินค้าอุตสาหกรรมหลักที่ไทยส่งออกไปรัสเซียคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 30% ซึ่งหากรวมเอายาง รถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบเข้าไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้มีสัดส่วนรวมถึง 40% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด แต่มาตรการคว่ำบาตร ได้ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรงจน ทำให้ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปยังรัสเซียในปี 65 จะหดตัวลงในอัตราสูง