‘สงครามการค้า’ฉุดแบงก์ชาติเอเชีย ชะลอลดดอกเบี้ยดูทิศทางภาษี‘ทรัมป์’
“โกลด์แมนแซคส์” คาดสงครามการค้าอาจฉุดธนาคารกลางในเอเชียชะลอแผนลดดอกเบี้ย จากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า-ความเสี่ยงนโยบายขึ้นภาษี ด้าน HSBC-SCB EIC ประเมิน กนง.จะคงดอกเบี้ย ธ.ค.นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างการวิเคราะห์ของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ว่า บรรดาธนาคารกลางในเอเชียจะระมัดระวังการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรของรัฐบาลใหม่สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
แอนดรูว์ ทิลตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโกลด์แมน แซคส์ มองว่า ธนาคารกลางของเกาหลีใต้จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ในอินโดนีเซียก็เพิ่งส่งสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสในการลดดอกเบี้ยน้อยลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐ
“ด้วยนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรที่อาจจะเกิดขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี ผมคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ” ทิลตันกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมน แซคส์ เสริมด้วยว่า ค่าเงินดอลลาร์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญมากสำหรับธนาคารกลางของเอเชีย
“ทรัมป์”ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน
ทั้งนี้ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60% ในขณะที่การเสนอชื่อตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลทรัมป์ช่วงแรกๆ ยังรวมถึงการแต่งตั้งคนที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับจีน เช่น มาร์โก รูบิโอ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และไมค์ วอลทซ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าทรัมป์พร้อมแสดงจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับจีน
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวด้วยว่าสำหรับรัฐบาลจีนแล้ว “ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องการให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งในตอนนี้ แต่มีแนวโน้มว่าค่าเงินหยวนอาจจะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า หากมีการกำหนดการขึ้นภาษีศุลกากร” โดยมองว่าค่าเงินหยวนของจีนจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ประมาณ 7.50 หยวนต่อดอลลาร์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ทรัมป์ได้ระบุผ่านทางแพลตฟอร์ม Truth Social ว่าจะลงนามการขึ้นภาษีศุลกากรอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน และจะขึ้นภาษีศุลกากร 25% กับประเทศเม็กซิโกและแคนาดา ในวันแรกของการเข้าทำงาน หลังพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 โดยอ้างว่าเป็นเพราะกังวลเรื่องการลักลอบนำเข้าและค้ายาผิดกฎหมาย
กนง.รอบล่าสุด“ลดดอกเบี้ย”
อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีมติลดดอกเบี้ย 5 ต่อ 2 เสียง ที่ 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.25%
โดยปัจจัยหนุนให้ กนง.ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง กนง.จึงมองว่า จุดยืนนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อ กนง.จึงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ หลังประชุม กนง. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ธปท.จะไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หลังจากปรับลดดอกเบี้ยแล้วในช่วงที่ผ่านมา และได้ปกป้องเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยการปรับลดดอกเบี้ยลง ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ธปท.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
ทั้งนี้ มองว่าการดำเนินการในอนาคต จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงิน อีกทั้งผู้ว่า ธปท.ยังย้ำอีกว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเป็นเพียงการ “ปรับเปลี่ยน” และเขาไม่คิดว่า เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่อง
คาด กนง.คงดอกเบี้ยประชุมรอบ ธ.ค.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือน ธ.ค. นี้ ตามการสื่อสารของ กนง. ที่เน้นรักษา Policy space เพื่อบริหารความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% อีกครั้งในการประชุมรอบเดือน ก.พ. 2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมและสินเชื่อยังคงชะลอตัวและเริ่มสร้างความกังวลมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ขณะที่ภาวะการเงินโลกในปีหน้าจะผ่อนคลายลงตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ซึ่งเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเร็วจากดัชนีเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังเลือกตั้งสหรัฐอาจอ่อนค่าไปอยู่ที่ราว 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังตลาดประเมินว่า ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าและประเทศอื่นอาจตอบโต้กลับ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีก 3-4% และกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อ
สำหรับปี 2568 เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นจากภาวะ Risk-on ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าตลาดเอเชียและไทย รวมถึงทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ โดยมองกรอบเงินบาทอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2568
ปีหน้า ศก.โลกเสี่ยงจาก“ทรัมป์ 2.0”
สำหรับเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเผชิญความท้าทายจากผลของนโยบายทรัมป์ 2.0 ในปีหน้า การเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังคงอยู่ที่ 2.7% ตามที่ประเมินไว้เดิมจะเติบโตชะลอลงแบบ Soft landing ในช่วงที่เหลือของปี แต่เครื่องชี้เร็วเริ่มสะท้อนความไม่แน่นอนนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นมากหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง SCB EIC ประเมินว่า ทรัมป์จะมีอำนาจฝ่ายบริหารที่คล่องตัวขึ้น เนื่องจาก Republican sweep ทั้งสภาบนและล่าง ท่ามกลางระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลงมาก
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ต้องเผชิญบริบทโลกที่มีสภาพเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศท้าทายขึ้นกว่าสมัยแรก เช่น เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงกว่า รวมถึงสงครามยูเครนและอิสราเอล อาจกระทบการดำเนินนโยบายชุดใหม่ของสหรัฐ ทั้งประเมินว่า ทรัมป์จะดำเนินนโยบายชุดใหม่อย่างมีกลยุทธ์ เร่งนโยบายในประเทศตามที่หาเสียงไว้ แต่อาจไม่ทำนโยบายกีดกันการค้าแบบสุดโต่ง
ดังนั้น ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากนโยบาย ทรัมป์ 2.0 โดยมองสมมติฐานนโยบายทรัมป์ 2.0 ในกรณีฐานไว้ คือ 1.สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ย 20% และสินค้าประเทศอื่นเฉลี่ย 10% ส่วนประเทศอื่นจะตอบโต้สหรัฐกลับในอัตราภาษีเท่ากัน ด้านยุโรปกับจีนจะขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเฉลี่ย 10%