"ชาคริต" ดัน "CREATECH" เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยสู่เวทีโลก
บทบาทใหม่ของ "ชาคริต พิชยางกูร" จากผู้บริหารเอกชน สู่ผ.อ. CEA ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศ รับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เตรียมนำแนวคิด CREATECH มาใช้ขับเคลื่อน ต่อยอดภูมิปัญหา วัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก
ถือว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ ดร.ชาคริต พิชญางกูร ในการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จากที่เคยเป็นผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจบริษัทเอกชนชั้นนำ ทั้งด้านสายงานธุรกิจ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาก่อนหน้านี้ ในหลายองค์กรชั้นนำ เช่น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
"ชาคริต" เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการของ CEA ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถจากที่เคยทำงานแนวดิ่งที่เป็นสายงานเดียวกันในภาคเอกชน ต้องวางกลยุทธ์ในการทำงานแบบแนวกว้างที่ต้องประสานและเชื่อมต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมที่เราได้วางแผนไว้ให้บรรลุเป้าหมาย
สำหรับงานที่ได้รับมอบหมายยังคงเป็นการสานต่อภารกิจเดิมของ CEA ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน และสถาบันการศึกษา
“ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ การผลักดันให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์นั้น
ผมมองว่า การใช้พลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย (CREATECH) จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ให้พัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คน ก่อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างสังคมที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้อย่างอิสระเสรี
ทั้งนี้ ภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น โดย CEA ได้เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความสนใจ ตลอดจนความร่วมมือจากชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ที่มีการดึงผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ผนวกความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตสินค้าและบริการใหม่ให้พื้นที่ก้าวสู่ย่านและเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมก้าวสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ UNESCO Creative Network (UCCN) ซึ่งขณะนี้ CEA ได้ขยายไปมากกว่า 33 พื้นที่แล้ว
ในส่วนของบทบาทการพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เราจะนำความได้เปรียบในด้านต้นทุนทางสังคม และวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะนำมาสู่การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ที่ประกอบด้วย
1. Creative Originals ได้แก่ งานฝีมือและหัตกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และหัตถศิลป์
2. Creative Content / Media ได้แก่ ภาพยนต์ การพิมพ์ การกระจายเสียง ซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน)
3. Creative Services ได้แก่ การโฆษณา การออกแบบ และสถาปัตยกรรม
4. Creative Goods / Products ได้แก่ แฟชั่น อาหารไทย แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
ภารกิจสุดท้ายของ CEA ในการเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลและเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศนั้น ทาง CEA ได้มุ่งมั่นทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง หลายสาขา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต
รวมทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งอัตลักษณ์ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI และสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ต่อไป
“ก้าวต่อไปของ CEA จะต้องยกระดับให้เป็นหน่วยงานหลักที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ยุคใหม่ การจับคู่ธุรกิจรายใหญ่รายย่อยเพื่อให้เกิดการระดมทุน ซึ่งผมได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะมุ่งพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People)
การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Place) ให้เป็น “เมืองสร้างสรรค์” ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นดันเป็นซอฟท์พาวเวอร์ สร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 ให้มากขึ้น
ซึ่ง CEA มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในบริบทโลก ส่งเสริมการจดทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ผลักดันนักสร้างสรรค์สายครีเอเทค (Createch) พร้อมเชื่อมต่อทุนอุตสาหกรรมให้แก่ SMEs ผลักดันเอกชนรายใหญ่ส่งออกเพื่อให้เกิดการกระตุ้นสินค้า บริการใหม่ ๆ และมีการจดทะเบียนที่ได้รับการรับรองที่เป็นสากล” ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย