เตรียมความพร้อมบริษัทไทยให้พร้อมรับกับนโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป
จากสถานการณ์ความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่โดดเด่นอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของตน
นโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย และบริษัทไทยต้องเผชิญกับทั้งโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งเปิดตัวโครงการ Belt & Road Initiative เพื่อนำเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ตลาดเอเชียและแอฟริกา ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน และโครงการด้านการเงิน ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ได้เปิดตัว Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity (IPEF) เมื่อต้นปีนี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในภูมิภาคเอเชียในด้านการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานการค้าดิจิทัล
การสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสีเขียว และกฎเกณฑ์เศรษฐกิจและการค้าที่เป็นธรรม แม้ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเพียงข้อตกลง ‘เชิงสัญลักษณ์’ ในขณะนี้ แต่ก็นับเป็นการวางรากฐานเพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ บริษัทไทยจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและโอกาสทางการค้ากับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาจากโครงการริเริ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พวกเขาอาจต้องชั่งน้ำหนักโอกาสเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการตอบโต้ของคู่ค้าอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนานโยบายการค้าที่น่าสนใจและอาจมีผลกระทบมากที่สุดสำหรับประเทศไทยอาจมาจากสหภาพยุโรป ภายใต้นโยบายการค้าที่เปิดกว้าง ยั่งยืน และตรวจสอบได้ (Open, Sustainable and Assertive Trade Policy) สหภาพยุโรปยังคงแสวงหาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย เพื่อการเข้าถึงตลาดของทั้งสองฝ่าย ประกอบกับการตั้งกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกัน และลดอุปสรรคทางการค้า วัตถุประสงค์เหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม “เขตการค้าเสรียุคใหม่” (New Generation FTAs) ของสหภาพยุโรปตอนนี้มุ่งเน้นประเด็นความยั่งยืนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งครอบคลุมประเด็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม ในความพยายามที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจที่จะขยายมาตรการข้อกำหนดของพันธมิตรในเขตการค้าเสรี และผลักดันการบังคับใช้ข้อกำหนดด้านความยั่งยืนด้วยบทลงโทษ
ปัจจุบันการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทยได้หยุดชะงักไป แต่จะกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้งเมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างข้อตกลงในกรอบการทำงานพื้นฐานร่วมกันได้ หากการเจรจาดังกล่าวมีความคืบหน้า ความยั่งยืนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในข้อตกลงอย่างแน่นอน โดยประเทศไทยจะต้องมีข้อผูกมัดด้านความยั่งยืนที่มีผลบังคับใช้อย่างชัดเจน
วาระความยั่งยืนของสหภาพยุโรปที่บังคับใช้ในพื้นที่นอกเหนือสหภาพยุโรปไม่ได้จำกัดแต่เพียงแค่นั้น ในปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้ออกข้อเสนอทางกฎหมาย ที่มีใจความระบุข้อกำหนด สำหรับผู้ประกอบการในตลาดสหภาพยุโรปโดยมีเป้าหมายเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการปกป้องสิ่งแวดล้อม และบังคับใช้สิทธิมนุษยชน ที่สำคัญสำหรับบริษัทในประเทศไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปจะถูกบังคับใช้ข้อกำหนดทางกฎหมายดังกล่าวด้วย ตัวอย่างข้อกำหนดดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
1) กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (The Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM): ภายใต้ระบบการซื้อขายการปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรปซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นการกำหนดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปสามารถปล่อยออกมาได้ ปริมาณดังกล่าวนี้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะได้รับหรือซื้อสิทธ์การปล่อยก๊าซในปริมาณจำกัด ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถปล่อยก๊าซเกินกำหนดหรือถูกปรับได้ในกรณีที่มีการปล่อยก๊าซเกินกำหนด และเพื่อป้องกันไม่ให้ความพยายามในการลดคาร์บอนในตลาดสหภาพยุโรปถูกมองข้าม
โดยบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ และนำเข้าสินค้าที่ “ไม่ยั่งยืน” เข้าสู่สหภาพยุโรป CBAM จึงกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าชี้แจงรายงานการปล่อยก๊าซดังกล่าวในสินค้านำเข้าและซื้อใบรับรองคาร์บอนที่สอดคล้องกับราคาคาร์บอนที่จะต้องจ่ายหากมีการผลิตสินค้านั้นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกโดยซัพพลายเออร์จากต่างประเทศ
โดยมาตรการในการบังคับการรายงานของ CBAM คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 และมาตรการในการบังคับใช้การชำระเงินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 ในระยะแรกมาตราการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าจำพวกปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า โดยมีแผนจะขยายข้อบังคับให้มีผลบังคับใช้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆในระยะต่อไป
2) Corporate Sustainability Due Diligence Directive: ข้อเสนอนี้ได้ระบุเงื่อนไขให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรปและบริษัทนอกสหภาพยุโรปบางแห่งที่มีรายได้จำนวนมากในสหภาพยุโรป เพื่อวางกรอบการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะภายใน (Internal Due Diligence) เพื่อระบุ รายงาน และลดผลกระทบจากกิจกรรมของบริษัทและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเหล่านี้จะขยายการบังคับใช้ไปยังซัพพลายเออร์ในต่างประเทศของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรป และความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ได้ถูกระบุไว้นั้นจะส่งผลให้เกิดการลงโทษในที่สุด
3) ระเบียบว่าด้วยผลิตภัณฑ์ deforestation-free: หากมีการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าว นโยบายนี้จะห้ามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือความเสื่อมโทรมของป่า ไม่ว่าสินค้าดังกล่าวจะผลิตในสหภาพยุโรปหรือในตลาดต่างประเทศก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่มีผลบังคับใช้ภายใต้ข้อกำหนดนี้ ได้แก่ วัวควาย โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และไม้ และในระยะต่อไปจะขยายให้มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เช่นกัน
เพื่อเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะต้องรวบรวมและรายงานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าและมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของรัฐผู้ผลิต การไม่สามารถจัดทำ Due Diligence ที่จำเป็นหรือไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบดังกล่าวจะส่งผลให้มีการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆในตลาดสหภาพยุโรป
ผลกระทบของกฎเกณฑ์สำหรับซัพพลายเออร์ในต่างประเทศนี้ จะช่วยเพิ่มการดำเนินการตามวาระความยั่งยืนของสหภาพยุโรปทั่วโลก สำหรับบริษัทไทยที่เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ตอนนี้เป็นเวลาที่จะทำความคุ้นเคยกับรายละเอียดข้อกำหนดตามนโยบายความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจและวางแผนล่วงหน้าว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรเพื่อปรับตัวและเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้