นอกจากการคว่ำบาตรต่อกันที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังลามไปถึงการใช้ “พลังงาน” เป็นอาวุธในการทำสงครามในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
แม้ช่วงที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ในมณฑลต่างๆของจีนเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะทำใหราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงจนมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แต่ภาพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เมื่อ "Gazprom" ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ประกาศปิดท่อส่งก๊าซฯ "Nord Stream1" ไปยังยุโรปอย่างไม่มีกำหนดทำให้ราค่าก๊าซฯปรับเพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้าในหลายประเทศในยุโรปปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนกระทบกับค่าครองชีพ ต้นทุนอุตสาหกรรม บริการ และภาคการผลิตจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ
หลายประเทศประชาชนเริ่มจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ไหว จนมีการชุมนุมประท้วงตามสถานที่สำคัญๆซึ่งจะนำมาสู่การบริหารงานที่ยากของรัฐบาล ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และภาวะสังคมในที่สุด
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะในยุโรปแต่กับประเทศที่ต้องมีการนำเข้าพลังงานอย่างประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ที่ผ่านมาเราได้ยินได้ฟังข่าวเรื่องการขาดทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯที่แบกหนี้ขาดทุนถึงกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และอุ้มผู้ใช้ก๊าซหุงต้มให้ได้ใช้ก๊าซราคาต่ำกว่าท้องตลาด
แต่การแบกรับภาระจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่ได้มีแค่ด้านน้ำมันและก๊าซหุงต้มเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกภาคส่วนในการผลิตไฟฟ้านั้นคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่กำลังเจอกับปัญหาหนักจากการแบกรับภาระจากการบริหารค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาล
เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าการที่เข้าไปแบกรับภาระค่า FT ของ กฟผ.ตั้งแต่ค่าไฟฟ้างวด ก.ย. - ธ.ค. 2564 จนถึงงวดเดือน พ.ค.- ส.ค.2565 มีภาระหนี้สินเกิดขึ้นแก่ กฟผ.แล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท และเมื่อรวมงวดปัจจุบัน ก.ย. - ธ.ค.2565 นั้นทำให้ กฟผ.มีภาระหนี้สินสูงขึ้นถึงประมาณ109,672ล้านบาท
แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมาโดยตลอดแต่เมื่อเจอกับราคาก๊าซฯที่สูงขึ้นมากทำให้เมื่อมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. พบว่าจะเจอกับภาวะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มี.ค. 2566เป็นจำนวนเงินประมาณ 7.4หมื่นล้านบาท จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขอ ครม.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 8.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยค้ำประกัน
จริงอยู่ที่การแก้ไขปัญหาให้ กฟผ.ด้วยการเสริมสภาพคล่องในครั้งนี้ทำให้ปัญหาระยะสั้นคลี่คลาย แต่โชคไม่ดีนักที่ราคาก๊าซฯจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีกนาน คำถามก็คือหาก กฟผ.ต้องแบกรับค่า FT ต่อไปอีก 1 ปีจะบริหารจัดการอย่างไร
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี พูดถึงการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านประชาชนมา 2 สัปดาห์แล้ว แต่ทางออกของเรื่องนี้มีที่ง่ายและทำได้ทันทีมากกว่าก็คือการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ปิดไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้ เปิดไฟเท่าที่จำเป็น
การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่รัฐบาลพูดมาโดยตลอด แต่น้ำเสียงต่อเรื่องนี้ยังเบา ไม่ส่งสัญญาณให้ชัดเจน ไม่มีมาตรการบังคับใช้ หรือมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน
ลำพังเพียงมาตรการขอความร่วมมือไม่ใช้มาตรการที่เหมาะสมในช่วงที่กำลังเผชิญวิกฤตราคาพลังงาน แบบที่กำลังเจอกันอยู่ในขณะนี้