ดาวโจนส์ดิ่ง 139 จุด กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(16ก.ย.)ร่วงลง 139 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 139.40 จุดหรือ 0.45% ปิดที่ 30,822.42 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.72% ปิดที่ 3,873.33 จุด และดัชนีแนสแด็กร่วงลง 0.90% ปิดที่ 11,448.40 จุด
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของบริษัทเฟดเอ็กซ์ คอร์ป ซึ่งถือเป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทให้บริการจัดส่งเอกสาร พัสดุ และสินค้าระหว่างประเทศ ดิ่งลงอย่างหนักในวันนี้ หลังบริษัทเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ
นายราช สุบรามาเนียม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟดเอ็กซ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ เฟดเอ็กซ์ประกาศยกเลิกการให้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการประจำปีนี้ พร้อมกับเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าคาดถึง 500 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เฟดเอ็กซ์ ยังประกาศมาตรการลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ โดยลดจำนวนเที่ยวบินขนส่งสินค้า และจะปิดสำนักงานจำนวน 90 แห่ง รวมทั้งเลื่อนการจ้างพนักงานใหม่ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป
ด้านธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในไตรมาส 3 ขณะที่บางประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566
ตลาดวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ในวันนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการควบคุมเงินเฟ้อ และการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้
นายพาวเวลกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ
"เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า" นายพาวเวลกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการใช้มาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า