"สามารถ" ชี้ รฟม.เสียประโยชน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 6.8 หมื่นล้าน

"สามารถ" ชี้ รฟม.เสียประโยชน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 6.8 หมื่นล้าน

"สามารถ" ระบุ รฟม.เสียประโยชน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ 6.8 หมื่นล้าน หลังมีการล้มประมูลครั้งแรกและมีการเปิดเผยข้อมูล BTS มีข้อเสนอทางการเงินที่ดีกว่า BEM ผู้ชนะประมูล

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ควันที่ 17 ก.ย.2565 เกี่ยวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลข้อเสนอทางการเงินของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ชนะการประมูล

ในขณะที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าต้องการรับเงินสนับสนุนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกแค่ 9.6 พันล้านเท่านั้น

นายสามารถ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าต่ำกว่า BEM ผู้ชนะการประมูลถึง 6.8 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่และเป็นภาษีที่กำลังจะล่องลอยไป รวมทั้งตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 

1.การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเกณฑ์เลือกผู้ชนะอย่างไร ?

รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง

ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน การประมูลที่ถูกล้มไปถือว่าเป็นการประมูลครั้งที่ 1

ต่อมา รฟม. ได้เปิดประมูลใหม่เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลเหมือนกับครั้งที่ 1 ดังนี้

(1) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) ซึ่ง รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่ประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา โดยได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าให้ผ่านเกณฑ์ง่ายขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 แต่ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น

(2) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ซึ่ง รฟม. ได้เพิ่มคะแนนผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1

(3) ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และซองที่ 2 จะต้องมาแข่งกันที่ข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนให้ รฟม. หักด้วยเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.) คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันสูงที่สุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล
 

จึงเห็นได้ชัดว่า รฟม. มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโดยจะต้องพิจารณาจากผลประโยชน์สุทธิที่ รฟม. ได้รับ ไม่มีปัจจัยอื่นมาเจือปน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ รฟม. ได้ใช้ในการประมูลโครงการอื่นที่ผ่านมา

2. ใครชนะการประมูล ?

รฟม. เปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ของเอกชน 2 ราย ซึ่งเป็นเอกชนที่ผมได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องว่าจะมีเพียงเอกชน 2 รายนี้เท่านั้นที่จะยื่นประมูล ส่วน BTSC ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวจะไม่สามารถยื่นประมูลได้

แต่ รฟม.ชี้แจงว่าการประมูลครั้งที่ 2 รฟม.เปิดกว้างให้เอกชนจำนวนมากรายสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ในกรณีที่ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มนิติบุคคล จะมีผู้นำกลุ่มนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 4-5 ราย และต่างชาติอีกจำนวนมาก แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร ? มีผู้ยื่นข้อเสนอแค่ 2 รายเท่านั้น ! อีกทั้ง 1 ใน 2 รายที่ยื่นข้อเสนอยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ไม่น่าจะผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ แต่ รฟม. ก็ให้ผ่านมาแล้ว

ผลการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) มีดังนี้

(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท นั่นหมายความว่า BEM เสนอผลตอบแทนให้ รฟม. น้อยกว่าเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ทำให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท

(2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 102,635.66 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ ITD Group จำนวน 102,635.66 ล้านบาท

จากผลประโยชน์สุทธิดังกล่าวส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. มากกว่า ITD Group หรือ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM น้อยกว่าให้ ITD Group นั่นเอง

3. BTSC เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. เท่าไหร่ ?

ในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูกล้มไป BTSC ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ BTSC ถึง 68,612.53 ล้านบาท  (78,287.95-9,675.42)

อาจเป็นที่สงสัยว่า ข้อเสนอของ BTSC ในการประมูลครั้งที่ 1 สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 ได้หรือ จึงขอตอบว่าได้ เพราะราคากลางค่าก่อสร้างในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง เท่ากัน คือ 96,012 ล้านบาท รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เหมือนกัน

อาจเป็นที่สงสัยอีกว่า ทำไม BTSC จึงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 ขอตอบว่า BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่สามารถหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา

"ผมได้ตั้งข้อสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่า ในการประมูลครั้งที่ 2 นั้น รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าให้ผ่านเกณฑ์ง่ายขึ้น แต่ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น"

ทำไม รฟม. จึงทำเช่นนั้น ?

4.ทำไม BTSC จึงกล้าขอรับเงินสนับสนุนแค่ 9.6 พันล้าน เท่านั้น ?

เมื่อดูไส้ในข้อเสนอของ BTSC พบว่า BTSC เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท หรือเสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท (70,144.98-79,820.40) นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท

ตัวเลขที่เสนอโดย BTSC ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ตัวเลขเงินที่ขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. จำนวน 79,820.40 ล้านบาท ที่น่าสนใจก็เพราะว่าราคากลางค่าก่อสร้างของ รฟม. สูงกว่านี้มาก นั่นคือ 96,012 ล้านบาท สูงกว่าที่ BTSC ขอรับการสนับสนุนถึง 16,191.60 ล้านบาท ! (96,012-79,820.40)

ถามว่า เป็นไปได้หรือที่ BTSC จะคิดราคากลางผิด ? ถ้าเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมราคากลางของ รฟม. จึงโป่งถึงขนาดนี้ ? รฟม. คิดผิดหรือ ?

5. สรุป

จากการติดตามการประมูลมาหลายโครงการ เห็นว่ากรณีการประมูลที่ตรงไปตรงมา หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลจะชี้แจงกี่ครั้งก็ชี้แจงได้เหมือนเดิม แต่กรณีการประมูลที่ไม่ชอบมาพากล ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลจะชี้แจงเท่าไหร่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะมันย้อนแย้ง

"ผมยังมีความหวังว่า บ้านนี้เมืองนี้ เรายังตามหาความเป็นธรรมในการประมูลเจอ แม้จะริบหรี่ก็ตาม ภาวนาขออย่าให้เป็นยุคการประมูลแบบรู้ตัวผู้ชนะก่อนเปิดซอง”

นายสามารถ ระบุหมายเหตุใต้โพสต์ดังกล่าวว่า "ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง"