กฟผ. มองค่าไฟแพงลากยาว 2 ปี หลายประเทศเน้นนโยบายพึ่งพาตนเอง
“กฟผ." มองไฮโดรเจนกำลังได้รับความนิยม ระบุ ช่วยหนุนพลังงานสะอาดประเทศ สู่เป้า Net Zero คาดค่าไฟยังคงแพงในระดับ 2 ปี หลายประเทศเน้นนโยบายพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า
ดร.นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา New Energy หัวข้อ การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรม จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากจะมีการจะใช้พลังงานสะอาดในประเทศ เพื่อรับเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย
1. Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% สิ่งที่จะทำคือ จัดหาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาให้ได้โดยส่วนตามแผนผลิตไฟฟ้า ทั้งแผน PDP กับเพิ่มสัดส่วนตามแผนพลังงานชาติ ที่จะเพิ่มสัดส่วนในการรับซื้อไฟฟ้า โดยภาพชัดเจนปลายปี 2565 นี้
โดย กฟผ. จะมีนวัตกรรมที่มาช่วยดำเนินการโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัย และพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
2. Sink Co-Creation โดยการเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน ในปี 2588 รวมถึงการทำ Smart Energy เป็นต้น
3. Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชย และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามโรดแมป คือ เทคโนโลยีไฮโดรเจนได้มีการพูดถึงเยอะ ซึ่ง กฟผ.ก็เชื่อว่าจะมา จึงเริ่มศึกษาโดยวางเป้าหมายถ้าประเทศไทยจะทำปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ต้องใช้กำลังผลิตที่เป็นไฟฟ้าเท่าไร และหากต้องการเป็น กรีน ไฮโดรเจนเพื่อก้าวสู่ ซีโร นิวส์ เอส เคิร์ฟ จะต้องผลิต New Energy ถึง 30,000 เมกะวัตต์ ถือว่าเทียบเท่ากับการใช้ไฟในประเทศไทยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องการอีกเท่าตัวเพื่อให้ได้ 1 ล้านตันของไฮโดรเจน
“ไฮโดรเจนจะอยู่ในฟอร์มของพลังงานที่เก็บไว้ด้วย ส่วนการเอาคาร์บอนมาทำ product อื่นๆ อยู่ที่การศึกษาว่าจะผสมอะไร และเป็นสารอะไรเพื่อให้ถูกปลดปล่อยออกไป ส่วนนิวเคลียร์ ถือว่ามีขนาดเล็กอาจจะต้องรอการยอมรับ และหากอนาคตราคาเหมาะสมก็มีความเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจจะมีปัญหาในเรื่องของสภาพภูมิอากาศในเรื่องของการที่ฝนตกตลอดทั้งวันที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาแหล่งผลิตพลังงานได้ 100% ดังนั้น อาจจะต้องลงทุน อาทิ ติดตั้งเครื่องรับส่งข้อมูลในการพยากรณ์อากาศ พร้อมกับการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเครื่องจักร พร้อมกับ AI เป็นต้น โดย กฟผ.ได้ดำเนินการแล้ว
ในการลงทุนเทคโนโลยี ทั้งหมดอาจจะต้องใช้เงินที่มหาศาล และจะนำมาสู่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ดังนั้น การร่วมมือกับประเทศอาเซียน จะสามารถเตรียมความพร้อมสู่การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาครองรับการแลกเปลี่ยนทรัพยากร และการประสานระบบปฏิบัติการระบบไฟฟ้าร่วมกันได้ จะลดการลงทุน
สำหรับการทำ EV Eco System ขณะนี้ กฟผ. ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเพิ่มความสะดวกของผู้ใช้งานโดยจะรวม platform สถานีชาร์จรถอีวีไว้ด้วยกัน โดยอนาคตจะเจอ Super App ที่สามารถบริหารจัดการวางแผนการชาร์จแบตเตอรี่ของทั้ง 3 การไฟฟ้าร่วมกันได้ดังนั้นการสร้าง Innovation และ Ecosystem อีกทั้งจะสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนสามารถกระโดดเข้ามา และทำต่อได้
“แผนพลังงานต่างๆ อาจจะไม่เวิร์ค ประชาชนพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ รวมถึงหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การพึ่งพาตัวเอง เพราะราคาค่าไฟจะยังคงแพงไประดับ 2 ปี เพราะถ้ายังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ LPG นำเข้าราคา 8-9 บาท แต่เราจ่ายเกือบๆ 5 บาท ทุกประเทศเริ่มหันมามองในเรื่องของการพึ่งพาตัวเอง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์