ดาวโจนส์ดิ่ง 313 จุดหลังกูรูเตือนหุ้นตกหนัก หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1%

ดาวโจนส์ดิ่ง 313 จุดหลังกูรูเตือนหุ้นตกหนัก หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1%

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(20ก.ย.)ดิ่งลง 313 จุด โดยหุ้นปรับตัวลงทุกกลุ่ม ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มการประชุมนโยบายการเงิน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 313.45 จุด หรือ 1.01% ปิดที่ 30,706.23 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 43.96 จุด หรือ 1.13%  ปิดที่ 3,855.93 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 109.97 จุด หรือ 0.95% ปิดที่ 11,425.05 จุด

หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวลงนำตลาดวันนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

สถาบันวิจัย CFRA ระบุว่า หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ก็จะเป็นการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป และจะฉุดให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลง

"เราคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% จะสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาด และเป็นการบ่งชี้ว่าเฟดมีปฏิกริยามากเกินไปต่อข้อมูลเศรษฐกิจ และลดโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป" นายแซม สโตวอลล์ นักวิเคราะห์จาก CFRA ระบุในรายงาน

ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 56 ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% เพียง 7 ครั้ง และหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 2.4% ภายในเวลา 1 เดือน, ร่วงลง 1.3% ในเวลา 3 เดือน และฟื้นตัวขึ้น 0.1% ในเวลา 6 เดือน

นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในวันนี้ถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ในวันนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ผลการสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง โดยเฟดจะใช้มาตรการดอกเบี้ยแบบ "ขึ้นแล้วคง" (hike and hold) แทนที่จะใช้มาตรการ "ขึ้นแล้วลง" (hike and cut) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ผลการสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% หลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันพรุ่งนี้ (21 ก.ย.) และเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือนมี.ค.2566 โดยคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า มีแนวโน้ม 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อันเนื่องจากการที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่าเฟดต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2% โดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปี จะอยู่ที่ระดับ 6.8% ในช่วงสิ้นปี 2565 และอยู่ที่ 3.6% ช่วงสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดในปี 2567

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 12.2% ในเดือนส.ค. สู่ระดับ 1.575 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.445 ล้านยูนิต จากระดับ 1.404 ล้านยูนิตในเดือนก.ค. ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนส.ค. แม้ได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง อย่างไรก็ดี การอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 10.0% สู่ระดับ 1.517 ล้านยูนิตในเดือนส.ค.