‘สภาพัฒน์’ชง‘SEA’เข้า ครม. วางเกณฑ์ประเมิน 'โครงการใหญ่'
"สภาพัฒน์" จ่อชงเกณฑ์ประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ เข้า ครม. เพื่อประกาศใช้ หลังนำร่องในพื้นที่ ฉะเชิงเทราในอีอีซีเป็นพื้นที่ทดลองเรียบร้อยน่าพอใจ พร้อมเปิดกว้างประเมินโครงการ 8 ลักษณะครอบคลุมการลงทุนและการใช้ทรัพยากรรัฐทุกด้าน
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment)หรือ“SEA”เป็นกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน
โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งต้องนำผลไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาในหลายโครงการการพัฒนาในประเทศไทยที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน กับชุมชนในพื้นที่เนื่องจากมีความเห็นต่างกันในการเดินหน้าโครงการ เช่นเหตุการณ์ต่อต้านโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ผูุ้ชุมนุมขณะนั้นได้เรียกร้องให้มีการเริ่มทำ SEA ของโครงการนี้ใหม่และเปลี่ยนแปลงหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบมาเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)นำมาสู่การจัดทำหลักเกณฑ์ กรอบ และคู่มือในการทำ SEA ของประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าเป็นลำดับและอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและจะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารองรับตามกฎหมายต่อไป
ปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)กล่าวในเวทีงานสัมนา ก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน จัดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ว่าในการทำงานของคณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นโดย สศช.มาตั้งแต่ปี 2563 ได้มีการประชุมหารือกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดและหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อกำหนดในการจัดทำ SEA ของประเทศไทยที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินโครงการ และนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย และจัดทำเป็นคู่มือ รวมทั้งข้อเสนอการบังคับใช้ทางกฎหมาย
ล่าสุดการจัดทำคู่มือ SEA และข้อเสนอแนะที่ต้องเสนอให้รัฐบาลพิจารณานั้นมีความสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่มีการทดลองทำ SEA ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเตรียมที่จะเสนอให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
โดยข้อเสนอเบื้องต้นนั้นนอกจากคู่มือในการจัดทำ SEA ที่จะออกมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดการจัดทำ SEA ยังมีข้อเสนอให้มีการใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรอบทางกฎหมายเพื่อให้เป็นหลักในการนำไปใช้ในโครงการ และพื้นที่ต่างๆด้วย
นายปีติพงษ์ กล่าวต่อว่าการจัดทำ SEA นั้นมีข้อแตกต่างจากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (HIA) โดยทั้ง EIA และ HIA จะต้องทำประกอบกับโครงการลงทุนของภาครัฐที่อาจกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ แต่ SEA นั้นเป็นการประเมินที่เกี่ยวข้องกับความสอดคล้องกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ของพื้นที่ในด้านต่างๆ
นอกจากนี้ต้องมีการนำเสนอทางเลือกให้กับในพื้นที่ด้วยโดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และสร้างทางเลือกให้กับโครงการ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าหนึ่งแห่งต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลความสอดคล้องกับนโยบายของพื้นที่ รวมทั้งมีการทำทางเลือกให้กับพื้นที่ด้วยว่าควรจะใช้เชื้อเพลิงชนิดใด และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เป็นต้น
นอกจากนั้น SEA ยังสามารถนำไปวิเคราะห์นโยบายในภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากอีก 8 ด้าน ได้แก่
การขนส่งและโลจิสติกส์
ภาคพลังงาน
อุตสาหกรรม
โครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
การจัดทำผังเมือง
และ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ชายฝั่ง ทะเล
ที่มีหลายมิติที่ต้องพิจารณาทั้งเรื่องของการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ