ส่งออกเกษตรส.ค.หดตัวแรง บาทอ่อนฉุดขาดดุล 4 พันล้านดอลลาร์
เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นดันส่งออกไทยเดือนส.ค.โต ขยายตัว 7.5 % แต่ส่งออกสินค้าเกษตร ส.ค.หดตัวแรง ขณะที่“บาทอ่อน”ฉุดขาดดุลพุ่ง4พันล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.ขยายตัว 7.5 % มูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 หลังจากได้รับรับแรงหนุนจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ขณะที่ไทยขาดดุลการค้ากว่า 4 พันล้านดอลาร์จากราคาพลังงานพุ่ง-เงินบาทอ่อน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน ส.ค.2565 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ขยายตัว 7.5% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.1%
ส่วนการนำเข้า เดือน ส.ค.มีมูลค่า 27,848.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 196,446.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.0% การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.4% ขาดดุลการค้า 14,131.7 ล้านดอลลาร์ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 8.5%
การส่งออกเดือน ส.ค.2565 ขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีความต้องการสูง เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังชะลอตัวในเดือนก่อน จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัว ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ คือ
1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 2.กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวและนับหนึ่งได้ ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขายดีขึ้น ทั้งอัญมณี เครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับการเดินทาง เครื่องสำอาง เป็นต้น
3.ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามกระแสการสร้างความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศ 4.ราคาสินค้าเกษตรไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง 5.ความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็นที่เพิ่มขึ้นเพราะกระแสคลื่นความร้อนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ส.ค.2565 สินค้าเกษตร ลดลง 10.3% แต่มีหลายสินค้าที่ขยายตัวได้ดีขึ้น เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและไก่แปรรูป เพิ่มขึ้น 125.4% ข้าว เพิ่มขึ้น 15.3%
สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 27.6% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 173.5% ไอศกรีม เพิ่ม 71.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่ม 25.5% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 18.5% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 14.3%
สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 9.2% เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 61.1% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 53.6% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 32.8% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 25.1% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 22.5%
สำหรับตลาดที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.CLMV เพิ่มขึ้น 41.1% 2.แคนาดา เพิ่มขึ้น 39.3% 3.ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 38.4% 4.สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 32.2% 5.ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 27.4% 6.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 19.0% 7.สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 19.0% 8.สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.3% 9.ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 6.6% และ 10.อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 5.8%
“ตัวเลขการส่งออกของไทยยังดีอยู่ 8 เดือน โต 11.0 % เกินเป้าที่ตั้งไว้ 4 % แล้ว คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีตัวเลขก็จะยังคงดีอยู่ แม้ว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นถึง 168 .7%"
อย่างไรก็ตามศักยภาพของทีมเซลล์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์ของเราทั่วโลกและกระทรวงพาณิชย์ที่ทำงานร่วมกับเอกชนใกล้ชิด ทำให้หาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้ได้มากขึ้น ซึ่งการส่งออกยังถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพี ขณะที่การท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัว
สำหรับการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค.2565 มีมูลค่ารวม 154,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% เป็นการส่งออกมูลค่า 88,234 ล้านบาท ลดลง 3.2% และรวม 8 เดือน มีมูลค่า 682,849 ล้านบาท เพิ่ม 0.1% และหากแยกเฉพาะการค้าชายแดน มีมูลค่าการค้ารวม 91,974 ล้านบาท เพิ่ม 27.5% เป็นการส่งออกมูลค่า 56,849 ล้านบาท เพิ่ม 29.6% รวม 8 เดือน 432,923 ล้านบาท เพิ่ม 21.1% โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการทยอยเปิดด่านเพิ่ม ปัจจุบันเปิดได้แล้ว 69 ด่านจาก 97 ด่าน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือนส.ค.2565 ถึง 4,215.4 ล้านดอลลาร์ เพราะไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 168.7% ราคาน้ำมันเพิ่ม 28.3% ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เพิ่ม 0.6% ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่าก็ทำให้มีผลต่อดุลการค้า แต่ก็ส่งผลดีต่อการส่งออกที่แข่งขันได้ดีขึ้น