ตึงตัวอย่างพร้อมเพรียง ตกต่ำอย่างพร้อมใจ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ตึงตัวอย่างพร้อมเพรียง ตกต่ำอย่างพร้อมใจ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีรอยแตกที่ใหญ่ขึ้นในทุกขณะ โดยอาจพิจารณาได้ใน 3 จุด คือ ภาคการผลิต ภาคความเชื่อมั่น และภาคการเงิน

ในส่วนของภาคการผลิต ตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนล่าสุดของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน ยังคงหดตัวเช่นเดียวกับสัญญาณจากภาคการผลิตทั่วโลก

โดยในส่วนของสหรัฐ แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในแดนลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ขณะที่ PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบสี่เดือน แต่ก็ยังคงอยู่ในแดนหดตัว

ขณะที่ในฟากของดัชนี PMI ทั่วโลกในเดือน ส.ค. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน และคำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน บ่งชี้ถึงสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น โดยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่ผลผลิตทั่วโลกโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.1% 
 

ขณะที่ในปีนี้ ปัญหาต่างๆ เช่น การเปิดเมืองที่ทำให้การใช้จ่ายภาคบริการเพิ่มขึ้นแทนที่การซื้อสินค้า วิกฤติราคาพลังงานที่เกิดจากสงครามของรัสเซียในยูเครน และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง โดยในยูโรโซนลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังสูง ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายเชิงรุก ซึ่งบทวิจัยธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวแบบพร้อมเพรียง (Synchronized tightening) ดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมากในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทำให้งานวิจัยของธนาคารโลกได้นำเสนอ 3 สถานการณ์ในปีหน้า ดังนี้ สถานการณ์แรก นโยบายยังคงผ่อนคลาย อาจทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรโลกเพิ่มขึ้น 1.5% แต่ภาพนี้ในปัจจุบันอาจไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ในการกดอัตราเงินเฟ้อลง ทำให้เป็นการมองในแง่ดีเกินไป

สถานการณ์ที่สอง “ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง” เกิดจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อดึงเงินเฟ้อให้ลดลง แต่ยังคงล้มเหลว ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 0.8% ส่วนสถานการณ์ที่สาม ธนาคารกลางต่างๆ ทำนโยบายการเงินแบบหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดภาวะถดถอยแต่ก็ทำให้เงินเฟ้อลดลงด้วย ส่งผลให้ผลผลิตทั่วโลกหดตัวลงประมาณ 0.4% ต่อคน

ตึงตัวอย่างพร้อมเพรียง ตกต่ำอย่างพร้อมใจ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในส่วนที่สอง ประเด็นด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ที่พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยที่มีผลสำคัญได้แก่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) อยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่สูงยังไม่ใช่ปัจจัยเดียว การวิเคราะห์ของ The Economist พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันนั้นที่ตกต่ำนั้นอธิบายได้ประมาณหนึ่งในสามจากอัตราเงินเฟ้อ แต่ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้อีกทั้งจาก

  • ความคาดหวังที่สูงเกินไปในช่วงโควิด-19 ว่า เมื่อวิกฤติจบ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรุนแรง แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
  • การยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลัง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลยุติมาตรการให้เงินช่วยเหลือ ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง

ผู้เขียนมองว่า ในระยะต่อไป ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศเจริญแล้วจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจาก 

  • จำนวนเงินออมของประชาชนที่ได้จากมาตรการช่วยเหลือมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังจากเงินอุดหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง โดย ณ ปัจจุบัน อัตราการออมของประชาชนชาวสหรัฐต่ำสุดในรอบ 12 ปี
  • ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ทำให้รายได้สุทธิของประชาชนลดลง
  • ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต จะลดแรงจูงใจในการจับจ่าย ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลง จะกดดันยอดค้าปลีก รวมถึงการบริโภคโดยรวมและเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ส่วนสุดท้าย ภาคการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed พร้อมทั้งส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลงและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยนับตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เมื่อ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมธนาคารกลางที่ Jackson Hole 

โดยระบุถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะเอาชนะเงินเฟ้อ ตลาดการเงินก็ปั่นป่วน มูลค่าของเงินดอลลาร์แข็งขึ้นประมาณ 2.5% ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว และเพิ่มขึ้น 16% นับตั้งแต่ต้นปี

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นรุนแรงทำให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ลดลง และทำให้ราคานำเข้าในประเทศเหล่านั้นสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้ธนาคารกลางประเทศเหล่านั้นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง (Global synchronized tightening) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกจากนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ เสี่ยงต่อวิกฤตการณ์การเงินมากขึ้น โดยเกาหลีใต้ใช้เงินทุนสำรองอย่างหนักเพื่อพยุงค่าเงินวอน และรัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะเปิด Swap line เงินดอลลาร์กับ Fed อีกครั้ง ส่วนญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงเพื่อหนุนค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ขณะที่ในอังกฤษ รัฐบาลได้ประกาศโครงการใช้จ่ายขนาดใหญ่และลดภาษี ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษพุ่งสูงขึ้น และเงินปอนด์สเตอร์ลิงร่วงลง

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังรอดพ้นจากวิกฤติการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลง และทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยากขึ้นเพราะต้นทุนสูงขึ้น

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงหลัก คือ

  1. เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่กำลังชะลอลงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงและการยุติมาตรการการคลังของรัฐ
  2. นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง (Global synchronized tightening) ผลจากดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้สกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงและต้องทำสงครามค่าเงินกลับทิศ (Reverse Currency War) ที่จะนำไปสู่ความตึงตัวทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและความผันผวนทางการเงินโลก
  3. ผลกระทบด้านลบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สงครามเย็นระหว่างจีนและสหรัฐ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สภาวะอากาศสุดขั้วและแนวนโยบายของรัฐบาลจีน ทำให้เป็นไปได้สูงขึ้นที่เศรษฐกิจทั่วโลกอาจเกิดภาวะถดถอยในครึ่งหลังของปี 2023

ของแพง นโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างพร้อมเพรียง และสงครามค่าเงินกลับทิศ เหล่านี้คือปัจจัยที่จะฉุดให้เศรษฐกิจพร้อมใจกันตกต่ำทั่วโลก

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน 
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]