บวท.เปิดตัว 'OpenSky' รับเทรนด์โดรนขยายตัวถึง 1 แสนลำ
บวท.เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “OpenSky” ลดระยะเวลาทำคำขออนุญาตบินโดรน หลังเทรนด์อากาศยานไร้คนขับขยายตัวอย่างก้าวกระโดด คาดสูงสุดถึง 1 แสนลำ
นายประทีป สังข์เที้ยม ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาหลักเกณฑ์ กฎกติกา ฐานข้อมูลและสถิติ วิเคราะห์และประเมินผล สำนักการอนุญาตวิทยุคมนาคม 1 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสถิติจดทะเบียนใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในไทยรวมประมาณ 7 หมื่นลำ
อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2564 – 2565 พบว่ามีตัวเลขการนำเข้าโดรนจากต่างประเทศอยู่ที่ 3 หมื่นลำ และยังมีการประกอบโดรนในไทยเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมจำนวน 1.2 หมื่นลำ ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ได้ว่าในอนาคตไทยจะมีโดรนในตลาด รวมตัวเลขโดรนลงทะเบียนและตัวเลขรอลงทะเบียนรวมกว่า 1 แสนลำ
นายเถลิงศักดิ์ ผาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบินกรุงเทพ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวภายในงาน Thailand UTM Forum เสวนาการใช้งานระบบ “OpenSky” ซึ่งใช้ในการส่งคำขออนุญาตทำการบินอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) โดยระบุว่า ปัจจุบันโดรนมีการเติบโตค่อนข้างสูง โดยเข้ามามีบทบาท และถูกพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นตลาดการบินที่เติบโตเร็วที่สุด และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี บวท.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (UAS Traffic Management System : UTM) อย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักสากลตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ห้วงอากาศระหว่างโดรน และอากาศยานร่วมกันได้ รวมทั้งใช้ห้วงอากาศซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บวท. ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “OpenSky” ในการส่งคำขออนุญาตทำการบินโดรน ตามขั้นตอน กฎระเบียบ และเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตก่อนขึ้นบินโดรนด้วย โดยแอพฯ ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วในการขออนุญาตทำการบิน จะลดระยะเวลาพิจารณาการขออนุญาตรวมประมาณ 1-2 วัน ลดลงจากเดิมที่ใช้เวลา 5-7 วัน แต่การขออนุญาตยังคงต้องขอล่วงหน้าก่อนขึ้นบินโดรนอย่างน้อยประมาณ 5 วัน
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา บวท.ได้เปิดทดลองใช้แอพฯ ดังกล่าว นำร่องในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ (Bangkok Control Zone) รัศมีประมาณ 35 ไมล์รอบกรุงเทพฯ หรือประมาณ 65 กิโลเมตร จากท่าอากาศยานดอนเมืองก่อน ซึ่งพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-26 ก.ย.2565 มีคำขอบินโดรนเข้ามาผ่านแอพฯ ทั้งสิ้น 115 คำขอ โดยมี 85 คำขอที่ได้รับการอนุมัติ ส่วนคำขอที่ถูกปฏิเสธนั้น เนื่องจากขอทำการบินในลักษณะที่เป็นช่วงระยะเวลาหลายวันในคำขอเดียว นอกจากนี้บางคำขอแสดงวิธีปฏิบัติการบิน หรือแสดงการจัดการด้านความปลอดภัยไม่ชัดเจน