เอกชนมองรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น หลังคำวินิจฉัยปมนายกฯ 8 ปี
หอการค้าไทย ชี้ไม่ว่าคำตัดสินปมนายกฯ8 ปี ออกมาอย่างไร ประเทศต้องเดินหน้า ยังมั่นใจเศรษฐกิจไปต่อได้จากแรงหนุนภาคส่งออก ท่องเที่ยว ด้านสรท.ขอการเมืองมีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ต้องติดตามดูผลการตัดสิน ประเด็นอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด หากเป็นนายกฯ คนเดิม นโยบายต่าง ๆ ก็ขับเคลื่อนต่อ แต่อาจจะมีปัญหาการประท้วงนอกสภาฯ บ้าง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการทางการเมืองมีความยากลำบากมากขึ้น หากได้นายกฯ คนใหม่ แต่รัฐบาลยังใช้ชุดเดิม ก็ต้องติดตามดูว่า จะได้รับการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงใด หรือหากเกิดการยุบสภา ก็เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน เศรษฐกิจของประเทศก็ยังต้องเดินหน้าต่อ ประเทศไทยก็ยังสามารถเป็นเจ้าภาพการจัดงาน APEC ได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ยกเว้นเกิดการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และมีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิด
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเดินหน้าต่อไปแม้จะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โลก ทั้งรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้น ภาคเอกชนก็ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจกันตามปกติ แต่อาจจะเข้าสู่โหมดการชะลอมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการลงทุนที่จะ Wait & see เพื่อรอดูความชัดเจนก่อน ดังนั้น แนะนำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายและลงทุน ฟังข่าวสาร อัพเดทสถานการณ์อย่างรอบด้าน และไม่ตกใจง่าย เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องปรับตัวให้เร็ว แต่ก็ยังเชื่อว่าจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจมาก เพียงแต่เศรษฐกิจจะเดินได้ช้าลง
ส่วน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ แม้ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนจะกระทบต่อภาคการนำเข้า แต่กลับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ภาคการส่งออก ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว จะได้รับอานิสงส์ที่ดีจากสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่หนีอากาศหนาวมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในช่วงปลายปี รัฐบาลจีนอาจจะเริ่มผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศคาดว่าจะคึกคักมากขึ้นจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะใช้ได้จนถึงปลายเดือนต.ค. รวมทั้งการผ่อนคลายเรื่องโควิดที่มากขึ้นในบ้านเรา เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีน่าจะถึง 10 ล้านคน หรืออาจมากถึง 12 ล้านคน จึงมองว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนนั้น โดยสุทธิแล้วจะยังเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เชื่อว่า GDP ไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ 2.75–3.50% ตามกรอบที่ภาคเอกชนได้คาดการณ์ไว้
สำหรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแข่งขันกับเวียดนาม ที่ขณะนี้เป็นที่สนใจของต่างชาติอย่างมาก ดังนั้น เราต้องมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของต่างชาติ เพื่อเป็นปัจจัยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคนไทยจะได้ประโยชน์ทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงการจ้างงาน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามา 1 ล้านคน จะทำให้มีเงินหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยกระตุ้น GDP ได้ประมาณ 2-3%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปมนายกฯ 8 ปีจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีความวุ่นวาย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ
“ถ้านายกฯอยู่ต่อ เชื่อว่าวุ่นวายแน่ แต่รุนแรงหรือไม่เดายาก ในทางอีกทางหากไม่อยู่ต่อ ใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศแน่ เป็นโจทย์ที่ต้องคิด ทั้ง 2 ทาง” นายชัยชาญ
ทั้งนี้ในเรื่องของความเชื่อมั่นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการส่งออกทางคู่ค้าต้องเชื่อมั่นเราก่อน ขณะนี้ต่างชาติ จับตาสถานการณ์การเมืองภายในประเทศอยู่ เพราะคนที่ถูกร้องคือ นายกรัฐมนตรี ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องทำ