‘วีซ่า LTR’ เดือนแรกคึกคัก ‘ชโยทิต’ เร่งเป้าล้านคน ใน 5 ปี
นโยบายวีซ่าประเภทใหม่ “Long-Term Resident Visa” หรือ "วีซ่า LTR” ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 ที่ผ่าน มีชาวต่างชาติที่ยื่นใบสมัครวีซ่าประเภทนี้แล้วประมาณ 500-600 ราย รัฐบาลมองว่าเป็นการตอบรับที่ดี เตรียมทำโรดโชว์ คู่นโยบาย Smart Visa ที่มีการปรับปรุง
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการเริ่มต้นนโยบายใหม่นี้ โดยนอกจากการยื่นใบสมัครของชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานและลงทุนในไทยอยู่แล้วนโยบายนี้ยังช่วยให้ชาวต่างชาติที่กำลังตัดสินใจว่าจะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะวีซ่า LTR อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และคนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย
“เร็วๆนี้กลุ่มบริษัทนักธุรกิจขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นประมาณ 70 บริษัทจะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อดูลู่ทางการมาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (Headquarter) ในประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ Nippon steel ได้ตัดสินใจเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยแล้ว”
สำหรับเป้าหมายของการดึงนักลงทุน และชาวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยยังคงเป้าหมายไว้ที่ 1 ล้านคนภายใน 5 ปี จึงต้องมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เข้ามากว่าปีละ 200,000 คน ดังนั้นในระยะต่อไปจึงเป็นงานใหญ่ในการดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้ามายังประเทศไทยซึ่งจะต้องมีการโรดโชว์ประชาสัมพันธ์นโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลนโยบายเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยรายงานสถิติผลการดำเนินการวีซ่า LTR ตั้งแต่ที่บีโอไอได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2565 ที่ผ่านมาถึงวันที่ 21 ก.ย. 2565 มีจำนวนคำขอทั้งหมด 630 คำขอ โดยมีผู้ขอรับรองคุณสมบัติวีซ่าประเภท กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) มากที่สุดจำนวน 248 คำขอ คิดเป็นสัดส่วน 39% รองลงมาได้แก่ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) จำนวน 182 คำขอ คิดเป็น 29%
ส่วนลำดับต่อมาที่มีการยื่นขอวีซ่าได้แก่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)จำนวน 80 คำขอ คิดเป็น 13% และที่มีการยื่นเข้ามาน้อยที่สุด คือ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) จำนวน 50 คำขอ คิดเป็น 8% ที่เหลือเป็นการยื่นคำขอของคู่สมรส และบุตร 70 คำขอ คิดเป็น 11% ของคำขอทั้งหมด
รวมทั้งหากคิดเป็นสัญชาติ 10 ลำดับแรกที่ยื่นคำขอ LTR วีซ่าในประเทศไทยได้แก่ สหรัฐฯ 138 คำขอ จีน 77 คำขอ อังกฤษ 54 คำขอ ออสเตรเลีย 37 คำขอ เยอรมัน 35 คำขอ สวิสเซอร์แลนด์ 24 คำขอ ฝรั่งเศส 23 คำขอ แคนนาดา 23 คำขอ อินเดีย 21 คำขอ และรัสเซีย 19 คำขอ
นอกจากนี้ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของ 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์ใน 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ โดยลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนทางตรง หรือลงทุนในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์
2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้จากการเกษียณขั้นต่ำปีละ 4 0,000 ดอลลาร์ ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรืออาจมีการลงทุนทางตรง หรือในอสังหาริมทรัพย์ที่มูลค่าเทียบเท่ากัน
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากไทย คือ ผู้ประกอบอาชีพดิจิทัล หรือพนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้เกษียณอายุ ต้องมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์ต่อปี
4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ คือ ผู้ประกอบอาชีพดิจิทัล หรือพนักงานองค์กรขนาดใหญ่ และใกล้จะเกษียณอายุ (Crop program) ซึ่งต้องมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละไม่น้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เมื่อเร็วๆนี้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
ทั้งนี้การปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น มีสิทธิขออนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) จากเดิม 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น 18 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่ม ได้แก่
1.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (National Defense Industry) 2.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตรงและมีนัยยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
3.อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ (Aviation and Aerospace Industry) 4.การบริหารเทคโนโลยี นวัตกรรมและ กลุ่มสตาร์ทอัพเทคโนโลยี และการบริหารจัดการสมัยใหม่ และการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Technology Development) และ 5.ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center)
สำหรับผู้ได้รับการตรวจลงตราประเภท Smart Visa จะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตทำงาน รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit) คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับสิทธิในการพำนัก/การทำงานได้ โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิบัตร
“จะช่วยดึงบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบสนองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายประเทศไทย 4.0”