รู้จัก ‘โครงสร้างพื้นฐานไทย’ อะไรเปลี่ยนชื่อใหม่บ้างปีนี้

รู้จัก ‘โครงสร้างพื้นฐานไทย’ อะไรเปลี่ยนชื่อใหม่บ้างปีนี้

ทำความรู้จักโครงสร้างพื้นฐานไทยภายใต้ชื่อใหม่ ร.ฟ.ท.เปิดตัว “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร รถไฟชานเมืองสานสีแดงสู่นครวิถีและธานีรัถยา ขณะที่ทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร นามใหม่ "ประจิมรัถยา"

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ - ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ - รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง

3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

 

โดยโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 และให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 ราคาค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 - 24.00 น. โดยสายบางซื่อ -รังสิต มีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 12 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที ส่วนสายบางซื่อ - ตลิ่งชัน มีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 20 นาที นอกช่วงเวลาเร่งด่วน 30 นาที

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้า รถไฟทางไกลสู่ทุกภูมิภาค และรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมต่อประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งในระยะยาวสถานีกลางบางซื่อจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ นับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบราง

ขณะเดียวกันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยังประกาศชื่อใหม่ของทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หลัง กทพ.ได้ขอพระราชทานชื่อทางพิเศษ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้ทางพิเศษ ประชาชนและหน่วยงาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ประจิมรัถยา" ซึ่งมีความหมายว่า "เส้นทางไปยังทิศตะวันตก"

สำหรับทางพิเศษประจิมรัถยา หรือทางพิเศษศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวม 16.7 กิโลเมตร วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมและขนส่งไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการต่อขยายทางพิเศษ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและเพิ่มศักยภาพของระบบคมนาคมขนส่ง

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ไปตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช บริเวณสถานีขนส่ง (หมอชิต 2) และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ซึ่งได้เปิดให้บริการโดยจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2559